เมื่อวันที่ 24 พ.ค. นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เปิดเผยว่าฝ่ายเกี่ยวข้องอยู่ระหว่างหารือประเด็นการปรับนิยามโรคฝีดาษลิงว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายหรือไม่ เบื้องต้นต้องมีเกณฑ์ 3 ข้อ คล้ายกับโรคโควิด-19 คือ1.เกณฑ์ทางคลินิก ว่ามีอาการอะไรบ้างที่เข้าข่ายเป็นโรคฝีดาษลิง ที่ชัดๆ คือมีตุ่ม 2. เกณฑ์ทางห้องปฏิบัติการ ว่าต้องมีการใช้แลปแบบไหนระดับใด และ 3. เกณฑ์ทางระบาดวิทยา จะต้องมีประวัติสัมผัส ประวัติเสี่ยงว่าจะเป็นอย่างไร อย่างไรก็ตามต้องให้ผู้เชี่ยวชาญมีการหารือกันก่อนเพราะที่ผ่านมาโรคฝีดาษลิงไม่มีมาก่อนในประเทศไทย ดังนั้นผู้เชี่ยวชาญต้องประเมินเข้าตามเกณฑ์หรือไม่จากนั้นให้คำแนะนำกรรมการวิชาการ และเสนอ รมว.สาธารณสุข ทราบต่อไป

นพ.จักรรัฐ ชี้แจงเรื่องการฉีดวัคซีนว่าตอนนี้ยังต้องประเมินสถานการณ์เตรียมหลายเรื่องทั้งวัคซีนที่จะมาปลูกฝีซึ่งอยู่ระหว่างการวางแผนจัดหาและไม่ใช่ว่าสามารถฉีดได้ทุกคน เนื่องจากมีผลข้างเคียงค่อนข้างเยอะ ซึ่งหากต้องปลูกฝี จะพิจารณาจากคนที่อาจมีการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ เช่น บุคลากรการแพทย์ส่วนประชาชนทั่วไปยังต้องประเมินอีกว่าเป็นกลุ่มไหนบ้าง ผู้มีอายุ 45 ปีขึ้นไป อาจเสี่ยงน้อย เพราะเคยปลูกฝีมาแล้ว ดังนั้นต้องดูข้อมูลทางระบาดเพิ่มเติมว่าเป็นกลุ่มไหน

เมื่อถามว่ากรณีติดเชื้อแต่ยังไม่แสดงอาการ สามารถแพร่เชื้อสู่คนอื่นได้หรือไม่ นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า คนติดเชื้อยังไม่แสดงอาการ ส่วนใหญ่ระยะแพร่เชื้อคือระยะที่มีตุ่มเกิดขึ้นแล้ว ส่วนใหญ่จะมีไข้ มีตุ่ม จึงจะเริ่มแพร่เชื้อ ส่วนก่อนหน้านี้ยังไม่ใช่ระยะแพร่เชื้อ แต่ต้องติดตาม ส่วนการกักตัวหลักการคือกักเท่าจำนวนวันฟักตัวที่นานที่สุด ซึ่งโรคฝีดาษลิงมีระยะฟักตัว คือ 5-21 วัน แต่ส่วนใหญ่กักตัวกันประมาณ 2 สัปดาห์

ขณะที่ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยืนยันกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในฐานะห้องปฏิบัติการของกระทรวงสาธารณสุข เตรียมพร้อมวินิจฉัยโรคฝีดาษลิง (monkeypox) ตรวจหาสารพันธุกรรมด้วยเทคนิค Real-time PCR ระยะเวลาการตรวจ 24-48 ชั่วโมง และการตรวจลำดับนิวคลิโอไทด์ ด้วยเทคนิค DNA sequencing ระยะเวลาการตรวจ 4-7 วัน

นอกจากนี้ ในส่วนของการรับรองคุณภาพวัคซีนในแต่ละรุ่นการผลิตก่อนจำหน่าย สถาบันชีววัตถุ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีความพร้อมในการตรวจวิเคราะห์คุณภาพวัคซีนฝีดาษหรือไข้ทรพิษ ทั้งด้านความปลอดภัย ด้านเคมี-ฟิสิกส์ และความแรง เพื่อยืนยันว่าวัคซีนนำเข้ามีคุณภาพ มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ จึงมั่นใจได้ว่าหากมีการนำเข้าวัคซีนอย่างเร่งด่วน จะสามารถดำเนินการได้อย่างทันท่วงที.