ที่ “บีทีเอส” สถานีตลาดพลู เมื่อวันที่ 24 พ.ค. เวลา 14.00 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. พร้อมด้วย นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และว่าที่ ส.ก. เขตธนบุรี และบางกอกใหญ่ ร่วมลงพื้นที่สำรวจการก่อสร้างอุโมงค์รัชดา-ราชพฤกษ์

นายชัชชาติ กล่าวว่า เมื่อวานนี้ (23 พ.ค.) ลงพื้นที่ดูปัญหาน้ำท่วม วันนี้ลงพื้นที่ดูปัญหาการจราจร ซึ่งเป็นปัญหาหลักของคนกรุงเทพฯปัญหาหนึ่ง เช่นพื้นที่เขตธนบุรีที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดรัชดา-ราชพฤกษ์ ของ กทม.ที่งานล่าช้าประมาณ 600 วันแล้ว โดยโครงการฯแบ่งเป็น 3 สัญญา ประกอบด้วย 1 การก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดถนน 2 ย้ายท่อประปาขนาดใหญ่ และ 3 นำสายสื่อและสายไฟฟ้าสารลงดิน ทั้ง 3 สัญญามีการขยายเวลาต่อเนื่อง ตั้งแต่ขยายสัญญาย้ายท่อประปา 400 วัน ขยายสัญญาเนื่องจากผลกระทบจากโควิดระบาดอีก 200 วัน แต่ขณะนี้งานยังดูไม่มีความคืบหน้า ซึ่งการก่อสร้างที่นาน มีผลต่อการจราจรติดขัด โดยการลงพื้นที่วันนี้ได้เชิญ ว่าที่ ส.ก.เขตธนบุรี จากพรรคเพื่อไทย และ ว่าที่ ส.ก.เขตบางกอกใหญ่ พรรคประชาธิปัตย์ ร่วมลงพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหาด้วย

นายชัชชาติ กล่าวอีกว่าปัจจุบัน พื้นที่กรุงเทพฯ มีโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ประมาณ 14 โครงการ ที่ก่อสร้างล่าช้ากว่า 100 วัน โดยมีสาเหตุที่แตกต่างกัน ส่งผลให้ไม่สามารถคืนพื้นผิวการจราจรได้ รวมทั้งการจัดการจราจรที่ต้องปรับปรุง การลงพื้นที่ร่วมกับ ส.ก. ทำให้เห็นปัญหาได้ชัดเจน อย่างไรก็ตาม กทม. ต้องเร่งรัดโครงการต่างๆ เพื่อคืนพื้นผิวการจราจรให้กับประชาชน ต้องทำเป็นการเร่งด่วน เพราะการก่อสร้างที่ล่าช้าส่งผลต่อการจราจรติดขัดในหลายพื้นที่ ในส่วนนี้ เมื่อเข้าไปทำงานจะดูรายละเอียดแต่ละโครงการว่าติดขัดตรงไหนอย่างไร เพราะผู้ที่เสียประโยชน์คือประชาชน รวมถึงการคืนพื้นที่โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าต่างๆ ต้องจริงจัง แม้จะช่วยแก้ปัญหารถติดไม่ได้ 100% แต่เป็นส่วนหนึ่งทำในการเพิ่มพื้นที่การสัญจรให้ประชาชน

ส่วนภายในวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี ตั้งเป้าการแก้ปัญหาส่วนนี้ไว้อย่างไรนั้น นายชัชชาติ กล่าวว่าต้องให้เร็วที่สุด แต่ขอดูข้อมูลก่อน เชื่อว่ากรอบสัญญาแรกต้องมีข้อเท็จจริงอยู่ ก่อนลงนามในสัญญาต้องคิดดีแล้ว ดังนั้นการล่าช้าไม่ควรจะเกิดขึ้น หากล่าช้าเกินเท่าตัว ต้องมีอะไรผิดปกติ ทั้งนี้ ต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ไม่ได้ไปบอกว่าเขาทุจริต และที่สาธารณะต้องรีบคืนให้ประชาชนได้ใช้ บางครั้งการจัดจุดโค้งจุดเลี้ยวต่างๆ มีการกันพื้นที่เยอะ หรือทำโค้งไม่เหมาะสม ส่งผลให้เกิดปัญหาการจราจรได้ด้วย อีกทั้งการจัดไฟจราจรแจ้งเตือนต่างๆ ผู้รับเหมาต้องทำ เพราะรวมในค่าก่อสร้างอยู่แล้ว

ทางด้านนายวิลาศ กล่าวว่า การขยายเวลาการก่อสร้างในโครงการต่างๆ เกิดจากความร่วมมือระหว่างคนคุมงานกับผู้รับจ้าง ซึ่งอาจมีผลประโยชร์ร่วมหรือว่ารู้จักกันเป็นการส่วนตัว ก็เอื้อประโยชน์กันในการขยายเวลา

เมื่อถามถึงการต่อสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งวันนี้ไม่มีการเสนอเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยให้เหตุผลว่ารอผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ก่อน มองว่าเรื่องนี้จะเป็นการโยนเผือกร้อนหรือไม่ นายชัชชาติ กล่าวว่า ทุกอย่างเราไม่ได้ใช้อารมณ์ เราใช้เหตุผล เราต้องตั้งคำถามว่าทำไมเราต้องต่อสัมปทาน โดยไม่ผ่าน พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ มองว่าข้อดีของ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ คือมีหน่วยงานอื่นร่วมดูแล ไม่ใช่แค่กรรมการชุดเล็กๆที่ตั้งขึ้นมา มีการแข่งขันเรื่องราคา ซึ่งน่าจะได้เห็นราคาที่เป็นธรรมมากขึ้น ยืนยันว่าไม่ได้มีอคติว่าใครผิดหรือถูก เราเชื่อในระบบ ขณะเดียวกัน หนี้การก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่รัฐบาลโอนให้กทม.เป็นผู้รับผิดชอบกว่า 60,000 ล้านบาท ผ่านสภา กทม. แล้วหรือยัง ต้องไปดูรายละเอียดรอข้อมูลก่อน รวมถึงสัญญาจ้างเดินรถถูกกฎหมายหรือเลี่ยง พ.ร.บ.ร่วมทุนหรือไม่

“การต่อสัมปทานโดยไม่ผ่าน พ.ร.บ.ร่วมทุน ผมรู้สึกว่าไม่ตรงตามหลักการของเรา เพราะหลักการเราคือทำให้ถูกกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อันนั้นเข้าใจว่าใช้ ม.44 ในการทำให้ต่อสัญญาโดยไม่ผ่าน พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ทำให้เรารู้สึกว่าไม่มีคนเข้ามาดูแลอย่างละเอียด ไม่มีการแข่งขันราคา หรือต้องมีเหตุผลที่ต้องเปิดเผยได้แค่นั้นเอง แต่ตอนนี้เรายังไม่มีข้อมูลอะไร เรามองจากข้างนอก คงต้องไปดูรายละเอียดอีกทีหนึ่ง”

เมื่อถามว่า มีความเป็นไปได้ที่เราจะได้เห็นตั๋วโดยสารแบบใบเดียวที่สามารถเชื่อมต่อการเดินทาง รถ ราง เรือได้หรือไม่ นายชัชชาติ กล่าวว่าบัตรใบเดียวมีวิธี เช่น อาจจะใช้บัตรยูโรที่หักเงิน ซึ่งบัตรใบเดียวสามารถเข้าได้ทุกระบบ แต่ที่กังวลมากไม่ใช่บัตรใบเดียวทุกระบบ แต่คือโครงสร้างราคาที่เป็นธรรม บัตรใบเดียวอาจไม่ช่วยแก้ปัญหาเรื่องราคา ซึ่งอาจจะแพงก็ได้ สิ่งสำคัญคือโครงสร้างราคา ลดความซ้ำซ้อนค่าแรกเข้า ต้องหารือกับบีทีเอสเป็นการภายในก่อน จากนั้นจะหารือคมนาคม เพื่อแก้ปัญหาแรกเข้าซ้ำซ้อนในเส้นทางต่อเนื่อง

เมื่อถามว่าจะเปิดตัวทีมบริหาร กทม. เช่นรองผู้ว่าฯ กทม.เมื่อไหร่ นายชัชชาติ กล่าวว่า ขอให้ประกาศอย่างเป็นทางการก่อน แต่เรามีพร้อมแล้ว และพร้อมทำงาน ส่วนกระแสข่าวที่ระบุว่า มีทีมงานของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าฯ กทม. มาร่วมงานงานด้วย ยืนยันว่าไม่มี และยังไม่ได้คุยกันเลย

เมื่อถามถึง กรณี น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ โพสต์ข้อความท้าทายให้ลงเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีแข่งกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายชัชชาติ กล่าวว่า ขอบคุณสำหรับความเห็น และได้พูดถึงนโยบายเรา เป็นเรื่องที่ดี เราเคารพความเห็นท่าน แต่ตอนนี้ขอทำหน้าที่ผู้ว่าฯ กทม.ก่อน