เมื่อวันที่ 24 พ.ค. นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา ได้โพสต์ข้อความลงบล็อกส่วนตัว ชื่อ “ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย” พร้อมทั้งระบุถึงสถานการณ์แพร่ระบาดของฝีดาษลิง โดยระบุว่า “ข่าวดี!! ผู้สูงอายุที่ปลูกฝีป้องกันฝีดาษเมื่อกว่า 50 ปีก่อน ยังคงมีภูมิคุ้มกันในระดับสูง มีครึ่งอายุ​ (Half life) นานถึง 92 ปี (Half life : ระยะเวลาที่ระดับภูมิคุ้มกันลดลงเหลือ 50%)”

จากกรณีที่มีข่าวการระบาดของฝีดาษลิงใน 15 ประเทศทั่วโลก (นอกทวีปแอฟริกา) และพบว่าวัคซีนหรือการปลูกฝีป้องกันโรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษในคน สามารถป้องกันโรคฝีดาษลิงได้มากถึง 85% นั้น

โดยเป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า โลกเราได้หยุดการปลูกฝีมานานกว่า 40-50 ปีแล้ว เพราะวงการสาธารณสุขสามารถกำจัดโรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษให้หมดสิ้นไปได้ ทำให้คนที่อายุน้อยกว่า 40-50 ปี ล้วนแต่ไม่มีภูมิคุ้มกันสำหรับไข้ทรพิษหรือฝีดาษ แต่คำถามที่น่าสนใจก็คือ ผู้ที่อายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป ซึ่งเกือบทุกคนจะได้รับการปลูกฝีตอนเด็กมาแล้ว จะยังคงมีภูมิคุ้มกันที่ป้องกันฝีดาษในคนรวมทั้งฝีดาษในลิงได้มากน้อยเพียงใด

แผลเป็นเรียบ จากการปลูกฝีป้องกันฝีดาษ

มีรายงานการศึกษาวิจัยถึงระดับภูมิคุ้มกันหลังจากฉีดวัคซีนป้องกันฝีดาษ ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ชั้นนำคือ New England Journal of Medicine พบข่าวดีว่า ในการศึกษาติดตามอาสาสมัครจำนวน 45 ราย ซึ่งมีอายุเฉลี่ย 37 ปี โดยติดตามนานเฉลี่ย 15.2 ปี และมีการเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อดูระดับภูมิคุ้มกันเป็นระยะถึง 11 ครั้งนั้น

พบว่า เฉพาะในระดับภูมิคุ้มกันต่อฝีดาษหรือไข้ทรพิษ จะมีการลดลงช้ามาก โดยจะมีครึ่งชีวิตนานถึง 92 ปี แยกเป็นในผู้ชาย 99 ปี และในผู้หญิง 85 ปี “ดังนั้นผู้ที่ฉีดวัคซีนเมื่อ 50 ปีก่อน ในขณะนี้ก็จะมีระดับภูมิคุ้มกันสูงเพียงพอที่จะสามารถป้องกันฝีดาษในลิงได้ นับเป็นข่าวดีสำหรับผู้สูงอายุทั้งหลาย”

แผลเป็นนูน จากการปลูกฝีป้องกันวัณโรค

ส่วนผู้ที่อายุน้อยกว่าปี 50 ปี แม้จะมีแผลเป็นที่ต้นแขนหรือสะโพก ก็ไม่ใช่การปลูกฝีป้องกันฝีดาษ หากแต่เป็นการปลูกฝีหรือฉีดวัคซีนป้องกันวัณโรค ซึ่งจะมีแผลเป็นเช่นกัน โดยแผลเป็นของวัคซีนป้องกันวัณโรคจะค่อนข้างนูน ส่วนแผลเป็นจากการปลูกฝีป้องกันฝีดาษจะค่อนข้างเรียบหรือเป็นหลุมลงไปเล็กน้อย

อย่างไรก็ตาม คงจะต้องติดตามการระบาดของฝีดาษในลิงว่า มีมากน้อยเพียงใด และจำเป็นที่จะต้องมีการฉีดวัคซีนให้กับคนที่อายุน้อยกว่า 50 ปีหรือไม่อย่างไรต่อไป…

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก @ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย