จากกรณีเมื่อวานนี้ (24 พ.ค.65) ดีเอสไอได้สนธิกำลังกรมส่งเสริมสหกรณ์ และเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.นางเลิ้ง ร่วมกันเข้าตรวจค้นพื้นที่เป้าหมาย จำนวน 6 จุด ได้แก่ สถานที่พักอาศัยใน จ.ปทุมธานี จำนวน 2 จุด สถานประกอบกิจการภัตตาคารและร้านอาหารใน จ.ปทุมธานี จำนวน 2 จุด สถานประกอบกิจการโรงแรมใน จ.สมุทรสงคราม และเพชรบูรณ์ จำนวน 2 จุด และได้ทำการเข้าตรวจยึดอายัดทรัพย์สิน มูลค่า 300 ล้าน จากคดีฟอกเงินเกี่ยวกับการทุจริตสหกรณ์ออมทรัพย์ กระทรวงเกษตรฯ โดยพบว่ามีการทุจริตเงินสหกรณ์ฯ มากกว่า 600 ล้านบาท กระทำการหลายครั้ง ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (18) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ตามที่ได้มีการรายงานข่าวไปแล้วนั้น

เมื่อวันที่ 25 พ.ค. นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้เปิดเผยถึงกรณีดังกล่าวกับผู้สื่อข่าวเดลินิวส์ เกี่ยวกับการขยายผลเพื่อติดตามทรัพย์สินและผู้กระทำความผิด ว่า จะมีการขยายผลไปยังบุคคลที่มีการรับถ่ายโอนทรัพย์สิน ซึ่งจากการตรวจสอบเส้นทางการเงิน ขณะนี้มีข้อมูลระดับหนึ่งแล้ว ส่วนจากการสืบสวนพบว่ามีบุคคลหลายคน ยังอยู่ในข่ายที่จะต้องดำเนินการตรวจสอบหรือเข้าไปตรวจค้น ส่วนกรอบระยะเวลา ก็ได้มีการเร่งทำและจะทำอย่างเร็วที่สุด อย่างตอนนี้ก็มีการดูเส้นทางการเงิน (Statement) เพื่อไปคานให้มีความครบถ้วนมากขึ้น แต่ส่วนหนึ่งได้รับมาบ้างแล้ว ก็รอบางส่วนจากทางธนาคารที่จะส่งมา

นายไตรยฤทธิ์ กล่าวว่า สำหรับการทำงานจะต้องทำงานควบคู่กับกรมส่งเสริมสหกรณ์ อย่างเวลาเจ้าหน้าที่ไป ก็จะมีการให้หน่วยงานกรมส่งเสริมสหกรณ์ ซึ่งเป็นผู้ร้องทุกข์ เข้าไปร่วมรับฟังด้วย ส่วนกรณีที่ผู้ทุจริตหลายราย ได้นำเงินที่ฟอกไปลงทุนซื้อหลักทรัพย์และหน่วยลงทุนอื่นๆ นั้น ทางเจ้าหน้าที่ก็ได้มีการสืบสวนแล้ว โดยพบว่ามีจำนวนมูลค่า 100 ล้านบาท และยังพบว่ามีผู้กระทำความผิดจำนวนหนึ่ง แต่ผู้กระทำความผิดหลักๆจะมีจำนวนไม่กี่คน

DSI ลุยค้น 6 จุด ยึดทรัพย์ 300 ล้าน ฟอกเงินทุจริตสหกรณ์ ก.เกษตรฯ

นายไตรยฤทธิ์ กล่าวต่อว่า จากนี้จะมีการนำส่งทรัพย์สินที่ตรวจยึดอายัดมาได้ประมาณ 300 กว่าล้าน ส่งไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) จากมูลค่าความเสียหายของสมาชิกสหกรณ์ฯ พบว่าในเบื้องต้นที่ได้รับรายงานมาคือ 600 กว่าล้านบาท ตนก็มองว่าในส่วนนี้ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถจะเยียวยาได้ ซึ่งตรงนี้ก็จะขึ้นกับคณะกรรมการธุรกรรมของ ปปง. ที่จะดำเนินการต่อไป แต่ก็ทราบว่ากระทรวงเกษตรฯ โดย น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ได้หารือไปยังนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในการหารือแนวทางการใช้ทรัพย์ที่ยึดมาได้ในการหาประโยชน์เข้ารัฐเพื่อที่จะนำมาเยียวยาต่อผู้เสียหายในระหว่างที่ยึดอายัดไว้อยู่ และในอนาคตตนก็ทราบมาว่าจะมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการซึ่งจะเป็นการบูรณาการกันระหว่างกระทรวงเกษตรฯ และหลายหน่วยงาน อาทิ ดีเอสไอ, ปปง. เป็นต้น ในการที่จะดำเนินการตรวจสอบสหกรณ์ฯ หรือการดำเนินการของสหกรณ์ฯ ทั้งหมดเพื่อเป็นการป้องกันการยักยอกทรัพย์และการทุจริตต่างๆ ทั้งนี้ ยังอยู่ระหว่างการรอประกาศคำสั่งจากนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกฯ ในการออกประกาศต่อไป