เมื่อวันที่ 26 พ.ค. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม ทั้งนี้ก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม มีการตั้งกระทู้ถามสด ของนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ถามนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง ซึ่งนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง มาชี้แจงแทน กรณีความไม่โปร่งใสโครงการบริหารจัดการท่อส่งน้ำสายหลักพื้นที่ภาคตะวันออก (ท่อน้ำอีอีซี) มูลค่า 25,000 ล้านบาท ที่กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลังเป็นผู้รับผิดชอบที่มีความไม่โปร่งใสในการคัดเลือกบริษัทที่เข้ามาบริหารจัดการระบบส่งน้ำ โดยเชิญเฉพาะบางบริษัทมาร่วมประมูลไม่เชิญบริษัทขนาดใหญ่หลายแห่ง อาทิ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) อีกทั้งการประมูลครั้งแรกที่บริษัท อีสวอเตอร์ให้ผลประโยชน์ตอบแทนสูงสุดแต่กลับถูกยกเลิกประมูล และมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขทีโออาร์และคณะกรรมการคัดเลือกชุดใหม่ในการประมูลรอบสอง ทำให้บริษัทวงษ์สยามก่อสร้าง เป็นผู้ชนะประมูลรอบใหม่

นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ชี้แจงว่า กรมธนารักษ์ไม่มีประสบการณ์บริหารจัดการท่อส่งน้ำ จึงจ้างม.เกษตรศาสตร์ เป็นที่ปรึกษาเพื่อออกแบบและสำรวจระบบส่งน้ำในทุกด้าน ได้รับคำแนะนำจาก ม.เกษตรศาสตร์ ว่า ให้เชิญบริษัทใหญ่ๆที่มีความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ในภาคตะวันออกมาให้ความเห็นเพื่อประกอบการวิเคราะห์ กระบวนการทุกขั้นตอนมีความรัดกุม รอบคอบ และไม่ให้ใช้วิธีเปิดประมูลทั่วไป ให้ใช้วิธีคัดเลือก เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อระบบส่งน้ำ ซึ่ง 5บริษัทที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าประมูล เป็นบริษัทใหญ่ทั้งบริษัทอมตะ บริษัทอีสวอเตอร์ บริษัท ดับบลิวเฮชเอ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง และบริษัท วิค จำกัด (มหาชน)

ส่วนที่บริษัทอีสวอเตอร์ ไม่ได้รับการประมูลทั้งที่เป็นรัฐวิสาหกิจนั้นเดิมปี 2535 บริษัท อีสวอเตอร์ เป็นรัฐวิสาหกิจมีการประปาภูมิภาค (กปภ.) ถือหุ้น100% แต่หลังจากนั้นมีการเปลี่ยนแปลงให้บุคคลอื่นมาถือหุ้นได้ ทำให้ กปภ. ถือหุ้นแค่ 40% และอีก 60% เป็นคนทั่วไป ดังนั้นขณะนี้ บริษัท อีสวอเตอร์ จึงไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ แต่เป็นบริษัทเอกชน ส่วนการยกเลิกประมูลครั้งแรก เนื่องจากทีโออาร์ไม่สมบูรณ์ไม่มีความชัดเจนเรื่องปริมาณน้ำ ทำให้บริษัทที่เข้าร่วมประมูลใช้ปริมาณน้ำต่างกัน จำเป็นต้องประมูลและกำหนดทีโออาร์ใหม่ เพื่อกำหนดปริมาณน้ำให้ชัดเจน โดยให้สิทธิบริษัทเดิมเข้าแข่งขัน สงสัยว่า อีสวอเตอร์รู้ว่าเป็นผู้เสนอราคาสูงสุดในการประมูลรอบแรกได้อย่างไร ทั้งที่ยังไม่มีการเปิดซองประกวดราคา เรื่องนี้จะต้องสอบคณะกรรมการคัดเลือกชุดแรกด้วย

นายสันติ กล่าวว่า การจ่ายค่าตอบแทนให้รัฐในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ที่อีสวอเตอร์เป็นเจ้าของสัมปทานให้ค่าตอบแทนกรมธนารักษ์ปีละ 500 กว่าล้านบาทเท่านั้นแต่การประมูลรอบล่าสุด ในรอบแรกอีสวอเตอร์ให้ค่าตอบแทนรัฐ 3,000 ล้านบาท และการประมูลรอบสองอีสวอเตอร์เพิ่มค่าตอบแทนให้รัฐเป็น 24,000 ล้านบาท ขณะที่บริษัท วงษ์สยามฯให้ค่าตอบแทน 25,000 ล้านบาท ดูแล้วน่าตกใจที่การบริหารจัดการน้ำมีมูลค่านับหมื่นล้าน แต่ทำไมที่ผ่านมารัฐได้ค่าตอบแทนแค่ 500 ล้านบาทต่อปี เงินเป็นหมื่นล้านหายไปไหนต้องตรวจสอบเจ้าหน้าที่ให้ชี้แจงว่า รายได้รัฐหายไปไหนช่วงที่ผ่านมา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในช่วงท้ายของการตั้งกระทู้ถามสด นายยุทธพงศ์ ได้เปรียบเทียบสถานที่ตั้งของบ.อีสวอเตอร์ที่มีความน่าเชื่อถือกว่าบ.วงศ์สยาม อีกทั้งมีสินทรัพย์ถึง 2.2 หมื่นล้านบาท ขณะที่บริษัทวงษ์สยามมีสินทรัพย์เพียง 1,615 ล้านบาท พร้อมกับระบุว่าเรื่องนี้จะนำอภิปรายไม่ไว้วางใจล้มรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานอีอีซี การออกตัวว่ามีหน้าที่เพียงกำกับดูแลก็ขอเตือนว่าการไม่จัดการปัญหาถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157

ขณะนายสันติ ชี้แจงทิ้งท้ายว่า ตนไม่สนใจเรื่องที่ตั้งหรือหน้าตาบริษัท เพราะบริษัทหน้าตาดี แต่โกงมีเยอะแยะ ขอให้เปลี่ยนความคิดจะดูแต่ภายนอกไม่ได้ การบอกว่าจะอภิปรายไม่ไว้ใจนายกฯนั้นที่ผ่านมานายกฯเป็นห่วงเรื่องนี้เรียกไปสอบถามและได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบแล้วแต่ผลประโยชน์ที่หายไปในช่วงที่ผ่านมาต้องมีการตรวจสอบไม่อยากให้แถไปเรื่อยๆ เป็นผู้แทนต้องซื่อสัตย์กับประชาชน.