เมื่อวันที่ 27 พ.ค. ที่สำนักงานทนายความนายษิทรา เบี้ยบังเกิด อาคารเอ็มไพร์ ถนนสาทรใต้ น.ส.ภัทร์สุดา ธรรมวาจารย์ อายุ 29 ปี อาชีพแม่ค้าออนไลน์ และนายอภิชิต บุญเต่าน้อย ญาติของ นายอดุลย์ ธรรมวาจารย์ อายุ 52 ปี อาชีพพนักงานส่งพัสดุ เข้าพบนายษิทรา เบี้ยบังเกิด เลขาธิการมูลนิธิทีมงานทนายประชาชนฯ เพื่อปรึกษาข้อกฎหมาย

ทั้งนี้สืบเนื่องจาก นายอดุลย์ พ่อของ น.ส.ภัทร์สุดา ประสบอุบัติเหตุขี่จักรยานยนต์ชนท้ายรถกระบะบาดเจ็บสาหัส อาสาสมัครนำส่ง รพ.จุฬารัตน์ 3 อินเตอร์ แพทย์พบว่ามีเลือดคั่งในสมอง ต้องทำการผ่าตัดโดยด่วน แต่หลังผ่าตัดแล้วเสร็จ พยาบาลกลับนำชิ้นส่วนกะโหลกศีรษะบรรจุในถุงพลาสติกรัดหนังยางมาให้ญาตินำกลับไปเก็บรักษาเองที่บ้านเอง โดยไม่มีบรรจุภัณฑ์เก็บรักษาตามมาตรฐานให้มาด้วย สร้างความคาใจกับทางญาติว่า ทำไมโรงพยาบาลจึงไม่เก็บรักษาอวัยวะของผู้ป่วยไว้ให้

น.ส.ภัทร์สุดา เปิดเผยว่า พ่อประสบอุบัติเหตุตั้งแต่ วันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งแพทย์โรงพยาบาลทำการผ่าตัดทันทีหลังเกิดเหตุ เนื่องจากศีรษะได้รับความกระทบกระเทือน มีเลือดออกในกะโหลกศีรษะ ซึ่งหลังการผ่าตัดแพทย์บอกว่าอาการพ้นขีดอันตรายแล้ว จากนั้นพยาบาลก็ได้นำชิ้นส่วนกะโหลกขนาดเท่าฝ่ามือ พร้อมเนื้อเยื่อใส่ถุงร้อนสีใส มัดด้วยหนังยางรัดแกง มีสติกเกอร์ระบุชื่อคนไข้ประวัติทั่วไปและแพทย์ผู้ผ่าตัดแปะอยู่บนถุงดังกล่าวมาให้ โดยระบุว่า ให้เอากลับไปแช่ตู้เย็นที่บ้าน หากต้องการเมื่อไหร่จะเรียกให้มาส่งคืน ด้วยความที่ดีใจบิดาพ้นขีดอันตราย จึงไม่ได้สอบถามอะไรเพิ่มเติม อุ้มเอากะโหลกกลับบ้านไปแช่ในตู้เย็นที่บ้านรวมกับของสดอื่น ๆ อยู่ถึง 2 วัน

ภายหลังเริ่มเกิดความไม่สบายใจ จึงกลับมาสอบถามแพทย์วันที่ 23 ก.พ. ว่าเหตุใดญาติถึงต้องเก็บเอาไว้เอง ทำไม รพ.ถึงไม่จัดเก็บไว้ให้ ปรากฏว่าแพทย์ที่ห้องไอซียูที่ตนไปสอบถามตกใจเป็นอย่างมาก รีบบอกให้เอาชิ้นกะโหลกมาคืน รพ. จนกระทั่งช่วงเช้าวันที่ 24 พ.ค. แพทย์แจ้งว่าพ่ออาการทรุด จากนั้นผ่านไป 2 ชม. ก็เสียชีวิต ทำให้บรรดาญาติเกิดความสงสัยเกี่ยวกับการรักษาของแพทย์ โดยเฉพาะประเด็นการให้ญาติเก็บชิ้นส่วนของผู้ป่วยเอาไว้เอง ทั้งที่จริง รพ.ต้องดูแลรักษาในตู้เย็นและห้องปลอดเชื้อ ซึ่งทาง รพ.ก็ไม่ได้กำชับหรือแจ้งรายละเอียดวิธีการใด ๆ

ด้านนายษิทรา กล่าวว่า การเก็บชิ้นส่วนอวัยวะของผู้ป่วยนั้น ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละโรงพยาบาล แต่ส่วนใหญ่ทางโรงพยาบาลจะเก็บไว้เอง เพราะรู้วิธีการและมีอุปกรณ์ที่มีมาตรฐานกว่าให้ญาตินำไปเก็บไว้เองที่บ้าน จากนี้จะให้ทางโรงพยาบาลชี้แจงถึงสาเหตุดังกล่าว พร้อมทั้งชี้แจงถึงสาเหตุการเสียชีวิตว่าเกิดจากสาเหตุใด เกิดจากอุบัติเหตุ หรือ การผ่าตัด ก่อนจะดำเนินการต่อไป.