เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 27 พ.ค.ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 วาระแรก วันที่ 31 พ.ค.ถึง 2 มิ.ย. ที่ฝ่ายค้านขู่จะคว่ำร่างให้ตกในสภาว่า ตนขอตอบตามคำถาม แต่ไม่ได้หมายความว่า เป็นการส่งสัญญาณอะไรหากร่าง พ.ร.บ.งบประมาณถูกตีตกในสภา นายกฯ มีสองแนวทางคือ 1.ยุบสภา หรือ 2.ลาออก ซึ่งหากยุบสภา กว่าจะมีเลือกตั้งคงอีกนาน ระหว่างนั้นใช้งบประมาณปี 65 ไปพลางก่อน บริหารไปได้จนกว่าจะมีงบประมาณใหม่ เพียงแต่ว่าโครงการใหม่ๆ จะเกิดไม่ได้เพราะไม่ได้อยู่ในบัญชี

เมื่อถามว่าเป็นข้อบังคับในรัฐธรรมนูญหรือไม่ รัฐบาลต้องยุบสภา นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่มี แต่เป็นประเพณีควรต้องปฏิบัติจะลาออกหรือยุบสภา และ ครม.ต้องออกทั้งคณะ หากนายกฯ ยุบสภา การพิจารณาร่าง พ.ร.ป.เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2 ฉบับต้องชะงัก เพราะไม่มีสภา ส่วนทางออกกฎหมายเลือกตั้งขอไม่ตอบ เพราะจะใช้แบบไหนก็มีคนเถียงทั้งนั้น ข้อที่ 1 อาจใช้เป็น พ.ร.ก. ข้อที่ 2 อาจให้
คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกประกาศ และข้อที่ 3 เลือกโดยไม่ยึดระเบียบอะไร แต่จะถูกเถียงทุกอย่าง ซึ่งต้องไปศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมด แต่ทางออกนั้นมีผู้เสียผลประโยชน์ ไม่ยอมรับและต้องไปร้องศาลรัฐธรรมนูญ ยกตัวอย่างในอดีตมีคนไปร้องให้ศาลตัดสินให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะหลายครั้ง

ต่อข้อถามหากวันโหวตลงมติ ร่าง พ.ร.บ.งบฯ ปี 66 ถูกตีตก นายกฯ ต้องประกาศยุบสภาหรือลาออกในวันนั้นหรือมีกำหนดช่วงเวลาหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เวลาประกาศยุบสภา นายกฯ จะไม่บอกใคร อาจประกาศทันที แต่รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่าต้องยุบสภา หรือลาออกทันที หรือกี่วัน อาจทิ้งเวลาไว้เป็นเดือน ต้องดูจังหวะเวลาอันสมควร แต่ต้องจบลงด้วยอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะการที่สภาไม่ผ่าน พ.ร.บ.เท่ากับว่าไม่ไว้วางใจให้บริหารประเทศต่อไป ฉะนั้นเมื่อรู้ตัวควรลาออก หรือยุบสภา ทั้งนี้ที่ผ่านมายังไม่เคยมีกรณีที่ พ.ร.บ.งบประมาณถูกตีตกในสภา และไม่ขอตอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ จะผ่านหรือไม่ผ่าน เพราะไม่รู้ ไม่กล้าตอบ สื่อถามมามากก็ชักจะหวั่นไหว ตนเป็นรัฐมนตรีไม่มีสิทธิโหวต มีแต่จะไปอย่างเดียว แนวโน้มไม่มี มีแต่แนวนอน.