เมื่อวันที่ 29 พ.ค. เวลา 09.00 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. พร้อมด้วย ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ และนายสัณห์สิทธิ์ เนาถาวร ว่าที่ ส.ก.เขตวัฒนา พรรคก้าวไกล ลงพื้นที่ชุมชนหลัง สน.ทองหล่อ เขตวัฒนา เพื่อสำรวจชุมชนแออัดไม่ได้จดทะเบียนชุมชน และสำรวจคลองเป้ง ซึ่งอยู่ติดกับชุมชน พร้อมทั้งพบปะประชาชนที่มาฉีดวัคซีนที่คลินิกชุมชนอบอุ่น

นายชัชชาติ กล่าวว่า ย่านทองหล่อถือเป็นใจกลางเมือง แต่มีชุมชนที่ไม่เคยเห็นว่าเป็นชุมชนแออัดซ่อนอยู่ 3-4 แห่ง เช่น ชุมชนหลัง สน.ทองหล่อ ชุมชนริมคลองเป้ง ชุมชนลีลานุช มีประชากรรวมกันอยู่ 300-400 หลังคาเรือน หลายชุมชนอยู่อย่างผิดกฎหมาย ไม่มีโฉนด รุกล้ำที่สาธารณะ ขณะเดียวกันกลุ่มคนเหล่านี้เป็นคนที่ขับเคลื่อนเมืองประกอบอาชีพ เช่น แม่บ้าน รปภ. มีที่ทำงานอยู่ในพื้นที่เอกมัย ทองหล่อ ซึ่งไม่ไกลจากที่พัก ทั้งนี้จะต้องพยายามปรับให้คนในชุมชนไปอยู่ในที่ที่ถูกกฎหมาย มีที่อยู่อาศัยมั่นคง โดยเริ่มจากการออมในชุมชน จากนั้นค่อยขยับขยายไปหาที่ที่ถูกกฎหมาย และระหว่างหาที่ถูกกฎหมายให้คนในชุมชน ก็ต้องดูแลคุณภาพชีวิตด้วย โดยได้เชิญนักวิชาการจากสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาดูพื้นที่ เพราะสาธารณสุขใน กทม. มีความซับซ้อน และมีหลายระดับ แต่หน้าที่ กทม.คือ ขั้นปฐมภูมิ ซึ่งเป็นด่านแรกที่มาเผชิญปัญหา โดย กทม.มีศูนย์สาธารณสุขอยู่ 69 แห่ง แต่ศูนย์สาธารณสุขยังอยู่ไกลชุมชน

ดังนั้นแนวนโยบายคือจะต้องนำการให้บริการสาธารณสุขลงมาในพื้นที่ชุมชนโดยคนในชุมชนไม่ต้องไปที่สาธารณสุข แต่ปัญหาคือ ข้อจำกัดด้านบุคลากรที่มีจำนวนไม่มาก จึงต้องมีเครือข่ายร่วมกับคลินิกชุมชนอบอุ่น แต่ที่ผ่านมาอาจมีปัญหาเรื่องการทุจริตอยู่บ้าง ทั้งนี้ มองว่าหากจะให้บริการที่ทั่วถึงจะต้องมี 3 แนวทาง คือ 1.มีเครือข่ายชุมชนอบอุ่น โดยร่วมกับภาครัฐ เอกชน และคนในชุมชุน เพื่อมาดูแลสุขภาพในเบื้องต้น เช่น การฉีดวัคซีนในชุมชนตรวจโควิด หลังจากนี้จะหารือกับ สปสช. เพราะเป็นเจ้าของเงินว่าจะจ่ายอย่างไรให้สะดวก และ กทม.จะทำหน้าที่ร่วมได้อย่างไร ในส่วนนี้จะให้สำนักอนามัยเข้าไปดูแลเรื่องคุณภาพ

2.ใช้เทคโนโลยี เทเลเมดิซีน มาเชื่อมต่อในการดูแลผู้ป่วยจากระบบทางไกล และ 3.การขยายเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุข หรือ อสส. ให้เข้มแข็งขึ้นและเพียงพอกับพื้นที่และจำนวนประชากรของ กทม. เชื่อว่า 3 แนวทางจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการมากขึ้น รวมถึงอาจปรับเปลี่ยนเวลาการให้บริการให้เหมาะสมกับชุมชนในแต่ละพื้นที่รวมถึงเพิ่มแพทย์เฉพาะทางที่ดูแลคนเมือง เช่นโรคซึมเศร้า โรคผู้สูงอายุ อออฟฟิศซินโดรมให้มากขึ้น เพราะที่ผ่านประชาชนไม่มั่นใจระบบสาธารณสุขในด้านแรกของ กทม. จึงไปรักษาตามโรงพยาบาลขนาดใหญ่ และโรงพยาบาลเอกชน

นายชัชชาติ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ต้องดูแลด้านคุณภาพชีวิต ขยะ คุณภาพน้ำของคนในชุมชนด้วย อย่างคุณภาพน้ำ กทม.ต้องร่วมกับชุมชนดูแลบำบัดน้ำเสีย

ทั้งนี้ นายชัชชาติ ได้กล่าวถึงประเด็นเรื่องการรับรองผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ซึ่ง กกต. อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับนายชัชชาติ​​ 2 เรื่อง คือ เรื่องกระเป๋ารีไซเคิล​จากป้ายหาเสียง และเรื่องที่มีผู้ร้องเรียนว่า นายชัชชาติ พูดดูถูกด้อยค่าระบบราชการ ว่า ได้ชี้แจงข้อกล่าวหาทั้ง 2 เรื่องต่อ กกต.แล้ว และไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง สบายๆ

ส่วนประเด็นเรื่องการต่ออายุสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว นายชัชชาติ ย้ำว่า รถไฟฟ้าสายสีเขียวไม่ได้มีอะไรน่าเป็นห่วง หน้าที่เราคือไปดูในสิ่งที่คนอื่นทำมาแล้ว เช่น สัญญาเก่าเป็นอย่างไร รับหนี้อย่างไร ต่อสัญญากี่สิบปี และเมื่อเข้าไปจะใช้เวลา 1 เดือนในการตรวจสอบเอกสาร แล้วพิจารณาว่าจะเดินต่อย่างไร โดยย้ำว่าไม่ได้ใช้อารมณ์ในการพิจารณา แต่ดูประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง พร้อมยืนยันว่า ไม่ได้มีการหารือกับพรรคเพื่อไทยเกี่ยวกับเรื่องนี้ แม้แนวคิดจะคล้ายกัน แต่เป็นนโยบายของตนตั้งแต่หาเสียงอยู่แล้ว ว่าจะต้องโปร่งใส และราคามีการแข่งขันที่เป็นธรรม

ส่วนหนี้ที่ กทม.ติดบีทีเอสอยู่หลายหมื่นล้านบาทนั้น ก็มีกังวล แต่หลังปี 72 เงินก็จะเป็นของ กทม. ก็ต้องมาดูว่าผ่อนจ่ายหนี้ได้หรือไม่ เหมือนกับต้องดูอดีตว่าเกิดอะไรขึ้น เพื่อหาทางแก้ไขร่วมกัน.