เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ช่วงหนึ่งนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน กล่าวชี้แจงกรณีมี ส.ส.หลายคนสอบถามถึงนโยบายของพรรคพลังประชารัฐ เรื่องการขึ้นค่าแรงรายวัน 400-425 บาทว่า ในปี 2563 ช่วงที่โรคโควิด-19 ระบาด มีคนออกจากงานประมาณ 490,000 รายต่อมาเมื่อปี 2564 จากมาตรการรัฐที่ช่วยเหลือต่างๆ ตลาดจ้างงานเป็นบวก 170,000 ราย จากนั้น ปี 2565 ไต
รมาสแรก ตลาดจ้างงานเป็นบวก 300,000 กว่าราย มากกว่าปี 2562 ก่อนมีโรคโควิด-19 โดยในยุคที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ตนเชื่อมั่นว่าค่าแรงเป็นส่วนหนึ่ง สิ่งสำคัญต้องสร้างรากฐานให้กับทรัพยากรมนุษย์

รมว.แรงงาน กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม เรื่องค่าแรงรายวัน 400-425 บาท ตามนโยบายของพรรคพลังประชารัฐนั้น ทำได้แน่นอน ถ้าไม่เกิดโรคโควิด-19 เพราะขึ้นปีละ 6-7 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่เมื่อเกิดโรคโควิด-19 ประชาชนและผู้ประกอบการจำนวนมากได้รับความเดือดร้อน ซึ่งถ้าขึ้นค่าแรงวันนั้น คนจำนวนนี้จะอยู่รอดหรือไม่ ถ้าอยู่ไม่รอด งบประมาณที่จะลงทุนของกระทรวงต่างๆ ต้องมาอุ้มคนตกงาน นี่คือสิ่งที่เราบริหารจัดการ สื่อมวลชนจำนวนมากมาถามเรื่องค่าแรง ซึ่งตนบอกไปว่า ถ้าตนเป็นนักการเมืองที่ไม่เห็นแก่อนาคตข้างหน้า 3-4 ปี คงปรับขึ้นได้ไม่ยาก ถ้าให้นโยบายไป แต่ขึ้นแล้วทำลายประเทศหรือไม่ ใครจะมาลงทุนในประเทศนี้

“ขอยืนยันว่าปรับขึ้นค่าแรงในปีนี้อย่างแน่นอน แต่จะปรับขึ้นเท่าไหร่นั้น อยู่ที่คณะกรรมการไตรภาคีเสนอมา ซึ่งจะต้องตอบสภานายจ้าง สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า และนายจ้างทั้งหลายได้ ขณะเดียวกันขอยืนยันว่ารัฐบาล นายกรัฐมนตรี และผมดูแลผู้ใช้แรงงานเหมือนพี่น้องในครอบครัวตลอดเวลา” รมว.แรงงาน กล่าว.