เมื่อวันที่ 31 ก.ค. นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล (รพ.) บุษราคัม แถลงข่าว “อัพเดทสถานการณ์การให้บริการ รพ.บุษราคัม” ผ่านระบบ Webex ว่า รพ.บุษราคัม เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค.64 รวมทั้งหมด 3 ชาเลนเจอร์ฮอลล์ รองรับ 3,700 เตียง เราเปิดบริการมา 2 เดือนครึ่งแล้ว ข้อมูลวานนี้ (30 ก.ค.) มีผู้ป่วยสะสม 12,929 ราย รักษาหายแล้ว 9,000 ราย ส่วนหนึ่งส่งต่อไปรักษาที่ รพ.อื่น ขณะนี้เหลือรักษาประมาณ 3,500 ราย

นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามในช่วงแรกที่รับผู้ป่วย วันที่ 14 พ.ค.-31 มิ.ย. รวมประมาณ 1 เดือนครึ่ง ใช้เตียงประมาณ 2,000 เตียง ผู้ป่วยสะสมช่วงแรก 4,200 ราย ยังไม่มีผู้ป่วยสีแดงที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ต่อมาในเดือน มิ.ย. มีเพิ่มขึ้นเป็น 2% ขณะที่เฉพาะเดือน ก.ค. มีผู้ป่วยเกือบ 9,000 ราย อีกทั้งพบว่า ผู้ป่วยมีอาการหนัก มีความซับซ้อนมากขึ้น มีผู้ป่วยต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเฉลี่ยทั้งเดือนอยู่ที่ 5% แต่หากเฉพาะครึ่งเดือนหลังตัวเลขเกือบถึง 10%

นอกจากนั้นยังมีการใช้เครื่องให้ออกซิเจนเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งเราเตรียมจุดบริการไว้ 800 จุดทั่ว รพ.ในจำนวนผู้ป่วย 3,500-3,700 เตียง โดยเมื่อ 3-4 วันก่อน ใช้ออกซิเจนไปเกือบหมดที่ 750 จุด ซึ่งตระหนักว่า ผู้ป่วยมีอาการหนักซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ จำเป็นต้องจัดหาเครื่องผลิตออกซิเจนมาเสริม โดยได้สั่งซื้อไปแล้ว 550 เครื่อง เพื่อรองรับผู้ป่วยที่อาจเพิ่มจำนวนขึ้น เนื่องจากการพยากรณ์ พบว่าจะยังคงมีการระบาดต่อเนื่องอีกระยะหนึ่ง

นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า ทั้งนี้ การให้บริการผู้ป่วยเรารับทุกประเภท ยิ่งปัจจุบันอาการซับซ้อนมาก รุนแรงมากขึ้น เห็นได้จากการใช้เครื่องช่วยหายใจ อย่างต้นเดือนใช้เครื่องช่วยหายใจ 50-60 เครื่อง ปัจจุบันใช้ 160 เครื่องเป็นบางวัน และประเภทของผู้ป่วย ซึ่งในผู้ป่วยหลายส่วนการดูแลอาจไม่ 100% เต็มที่เหมือนอยู่ รพ. เพราะสถานการณ์ไม่ได้อยู่ในภาวะปกติ แต่ก็จะพยายามเพื่อให้เขาได้เข้าสู่ระบบ รพ.ก่อน และพยายามบริการให้มากที่สุดใกล้เคียงเหมือนอยู่ รพ.จริงๆ ตามความสามารถ

นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้กำลังจัดทำหอผู้ป่วยวิกฤติ 17 เตียง พร้อมระบบความดันลบเฉพาะผู้ป่วยวิกฤตอาการหนัก คาดว่าจะเปิดได้ในสัปดาห์หน้า มีเครื่องไม้เครื่องมือครบตามแบบไอซียู และมีทีมแพทย์พยาบาลประจำไอซียู ซึ่งกำลังเดินทางมาจากต่างจังหวัดในวันพรุ่งนี้ (1 ส.ค.) นอกจากนี้ ต้องขอขอบคุณคุณหมอประมาณ 69 คน ซึ่งเป็นหมอเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ทั้งด้านวิกฤติฉุกเฉิน โรคติดเชื้อ ฯลฯ ซึ่งหลังจากจบเป็นผู้เชี่ยวชาญ ทาง สธ. ได้ให้อยู่ต่อใน กทม.เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย โดยประจำอยู่ทั้ง รพ.รามา ธรรมศาสตร์ รพ.พลังแผ่นดินของ รพ.มงกุฎวัฒนะ และอีกครึ่งหนึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ รพ.บุษราคัม เรียกว่าเป็นเสาหลักของทีมในการดูแลผู้ป่วยที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ.