นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง เปิดเผยว่า ขณะนี้ปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา ทำสถิติผู้โดยสารสูงสุด (นิวไฮ) 14,120 คน ถือว่าสูงที่สุดนับตั้งแต่เปิดให้บริการเชิงพาณิชย์มาเป็นเวลากว่า 6 เดือน ซึ่งในช่วงแรกของการเปิดให้บริการเมื่อช่วงเดือน พ.ย.64 ผู้โดยสารอยู่ที่ประมาณวันละ 2,000-3,000 คน ก่อนจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณวันละ 8,000-9,000 คน และผู้โดยสารมากกว่าวันละ 10,000 คน เมื่อช่วงเดือน พ.ค.65 อย่างไรก็ตามคาดว่าผู้โดยสารจะเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ 3 หมื่นคนภายในปี 65 และเติบโตขึ้นปีละไม่น้อยกว่า 10% 

นายสุเทพ กล่าวต่อว่า ตั้งแต่รัฐบาลยกเลิก Test & Go เมื่อวันที่ 1 พ.ค. ที่ผ่านมา ประกอบกับสถานศึกษาเปิดภาคเรียนเต็มรูปแบบ และประชาชนมั่นใจในการเดินทางมากขึ้น จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้โดยสารมาใช้บริการเพิ่มขึ้น โดยขณะนี้สถานีที่มีผู้โดยสารใช้บริการมากที่สุด 3 สถานีแรก ได้แก่ 1.สถานีกลางบางซื่อ, 2.สถานีดอนเมือง และ 3.สถานีรังสิต ทั้งนี้เดิมสถานีดอนเมือง เป็นสถานีที่มีผู้โดยสารมาใช้บริการเป็นลำดับ 3 แต่ปัจจุบันประชาชนเดินทางท่องเที่ยวในประเทศผ่านทางอากาศมากขึ้น ส่งผลให้สถานีดอนเมืองมีผู้ใช้บริการมากขึ้นตามไปด้วย เพราะการเดินทางสะดวกสบาย ลงจากรถไฟฟ้าสายสีแดง สามารถเดินเชื่อมทางเดินลอยฟ้า (สกายวอล์ก) เข้าสู่ท่าอากาศยานดอนเมืองได้ทันที  

นายสุเทพ กล่าวอีกว่า ยอมรับว่ามีประชาชนบางส่วนร้องเรียนมาว่า จุดเชื่อมต่อระหว่างสถานีดอนเมือง และท่าอากาศยานดอนเมือง ไม่มีทางลาด มีแต่ขั้นบันได ทำให้ประชาชนที่ใช้กระเป๋าเดินทางไม่ได้รับความสะดวก ต้องยกกระเป๋าขึ้นลงบันได เบื้องต้นทราบว่าขณะนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กำลังพิจารณาปรับแก้ไขด้วยการทำเป็นทางลาด คาดว่าจะได้ดำเนินการ และสามารถอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตลอดจนดึงดูดให้ประชาชนมาใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดง ปัจจุบันรถไฟฟ้าสายสีแดง เป็นรถไฟฟ้าที่มีราคาถูกที่สุดค่าโดยสาร 12-42 บาท ระยะทาง 42 กิโลเมตร (กม.) หากใช้ตั๋วรายเดือน จะเหลือเที่ยวละประมาณ 25 บาท คิดเป็น 0.60 บาทต่อ กม.

นายสุเทพ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ รฟฟท. ได้เสนอขอเพิ่มพันธกิจในการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงให้ รฟฟท. สามารถบริหารรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ได้ เพิ่มเติมจากเดิมที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้บริหารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์ และรถไฟฟ้าสายสีแดง ปัจจุบันเรื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) คาดว่าจะเสนอ ครม. ได้ภายในปีนี้ หาก ครม.เห็นชอบจะส่งผลให้ รฟฟท.สามารถเข้าไปประมูลบริหารรถไฟฟ้าสายอื่น ซึ่งจะทำในรูปแบบเข้าไปร่วมเป็นพันธมิตรกับเอกชนรายอื่น เป็นองค์กรที่ปรึกษาในการบริหารรถไฟฟ้า เป็นแหล่งเรียนรู้ทางราง ตลอดจนเป็นผู้รับช่วงในการบริหารและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า ดังนั้นแม้ว่า รฟฟท.จะไม่ได้บริหารรถไฟสายสีแดง เพราะต้องนำมาเปิดประมูลหาเอกชนรายใหม่ แต่ รฟฟท.ก็จะยังคงบริหารรถไฟฟ้าสายอื่น รวมไปถึงรถไฟไทย-จีน ที่ รฟท.กำลังจัดตั้งคณะบริหารรถไฟไทย-จีน ซึ่ง รฟฟท.จะรับบทบาทในการบริหารโครงการด้วย.