เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. ที่สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งประเทศไทย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพประชาชน และเครือข่ายแรงงานข้ามชาติ ร่วมกันจัดเสวนาหัวข้อ นโยบาย “3 ขอ” หวังดีหรือหลบเลี่ยงเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม? โดย น.ส.ธนพร วิจันทร์ เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน กล่าวว่า การออกนโยบาย 3 ขอ เป็นสิ่งที่สะท้อนถึงการไม่มีส่วนร่วมของผู้ประกันตน จากปัญหาที่ สปส.ยื้อไม่จัดเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) แต่ที่ผ่านมา เป็นการจัดตั้งโดย รมว.แรงงาน มาตลอด เช่นชุดปัจจุบันก็สืบทอดมาจากคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทราบว่า สปส.ได้มีการหารือและกำหนดไทม์ไลน์ การเลือกตั้งบอร์ดใหม่แล้วเบื้องต้นเดือน มิ.ย.-ก.ค. จะประชุม 2 ครั้ง ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ เดือน ก.ย.-ต.ค. เปิดสมัครรับเดือน พ.ย. ประกาศหมายเลขผู้สมัคร เลือกตั้งวันที่ 18 ธ.ค. แต่ตนขอให้เลือกตั้งให้เสร็จในเดือน พ.ย.นี้ และขอให้ทบทวนระเบียบเพื่อให้แรงงานข้ามชาติมีสิทธิเลือกตั้งได้ด้วย ทั้งนี้เครือข่ายจะติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะมีกระแสว่า รมว.แรงงาน จะใช้การแต่งตั้งเหมือนเดิม

ขณะที่ นายเซีย จำปาทอง ประธานสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ การตัดเย็บเสื้อผ้า และผลิตภัณฑ์หนัง แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยกับนโยบาย 3 ขอ เพราะเงินกองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพ เป็นเงินที่ผู้ประกันตนออมไว้ใช้ยามชรา เหตุผลที่ระบุว่าเพื่อเป็นหนึ่งทางออกสำหรับผู้ประกันตนในยามวิกฤตินั้น เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องดูแลประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียม และเพียงพอ หากไม่พอควรตัดงบที่ไม่จำเป็นในช่วงเวลานั้นออกเช่น งบฯ ซื้ออาวุธ ส่วนกรณีขอกู้นั้น ที่ผ่านมาผู้ประกันตนเคยเสนอให้มีการขอกู้ผ่าน สปส.โดยตรง แต่ตอนนี้กลับให้กู้ผ่านธนาคาร หากผู้ประกันตนไม่ใช้คืนจะทำอย่างไร เงินชราภาพก็จะหายไป ดังนั้นขอให้ สปส. ทบทวนมาตรการ 3 ข.

ทางด้าน รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์ กล่าวว่าตนมองว่าการเอาเงินชราภาพ การขอกู้บางส่วน ช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ แต่มีผลกระทบระยะยาวต่อผู้ประกันตน และสังคมที่จะมีผู้สูงอายุที่ยากจนดูแลตัวเองทางการเงินไม่ได้เพราะใช้เงินบำเหน็จหมดใน 5-10 ปี กระทบความมั่นคงของกองทุน และการเงินของผู้กู้ ซึ่งคาดว่าเงินอาจหมดกองทุนภายใน 30-40 ปี แทนที่จะเป็น 75 ปี จึงขอให้พิจารณาอย่างรอบด้าน บริหารกองทุนโปร่งใส ได้ผลตอบแทนเหมาะสม ขอให้เร่งจัดการเลือกตั้งบอร์ด สปส.ให้เสร็จในปี 65 แต่หากต้องการยกเครื่อง ปฏิรูปใหญ่ก็ควรปรับเปลี่ยน สปส.จากหน่วยราชการมาเป็นองค์กรของรัฐ มีความอิสระ

“จริง ๆควรใช้ทางเลือกอื่นที่พอมีอยู่ อาทิ การเพิ่มหรือขยายเวลาสิทธิประโยชน์การประกันการว่างงาน ลดสัดส่วนเงินสมทบ การให้เงินช่วยเหลือเยียวยา ส่วนการขอกู้หากจะทำต้องมีการตั้งธนาคารของกองทุนประกันสังคมขึ้นมา ขอย้ำว่าการดึงเงินจากกองทุนชราภาพเป็นเพียงการลดการก่อหนี้ของรัฐในวันนี้ แต่ไม่ได้มองถึงผลต่อตัวสมาชิกเองที่หลักประกันทางรายได้ยามชราภาพจะลดลง รวมทั้งผลต่อกองทุนฯ และสมาชิกคนอื่นๆ ในอนาคต” รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าว

ส่วนนายบัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ นักวิชาการแรงงาน กล่าวว่าในนโยบาย 3 ขอนั้น ตนเห็นด้วยเพียงข้อเดียวคือ “ขอเลือก” ว่าจะรับบำเน็จหรือบำนาญ แต่ต้องมีเกณฑ์อายุถึง 60 ปี และมีความจำเป็นจริงๆ แต่ไม่เห็นด้วยกับ “ขอคืน” และ “ขอใช้บางส่วน” เพราะทำลายหลักการกองทุน นอกจากนี้ตนยังขอเสนออีก 2 ขอคือ 1. ขอเพิ่มฐานค่าจ้างคิดเงินสมทบ เนื่องจาก 1.5 หมื่นบาทใช้มานานแล้วตั้งแต่ปี 33 ขณะที่ปัจจุบันมีจำนวน 1 ส่วน 4 ของผู้ประกันตน มีรายได้เกิน 1.5 หมื่นบาท 2. ขอเพิ่มฐานอายุ เพราะ 55 ปี น้อยเกินไป และอายุการเกิดสิทธิรับบำเน็จ บำนาญ ไม่จำเป็นต้องจ่ายครบ 180 เดือนก็ได้ อย่างไรก็ตาม แต่ทั้งหมดที่ตนเสนอนั้นต้องปฏิรูปประสิทธิภาพการบริหารกองทุนให้อิสระ.