จากกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าวันนี้ในที่ประชุมได้มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คู่ชีวิต ซึ่งได้มอบหมายให้กระทรวงยุติธรรมศึกษาเรื่องนี้ รับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน จึงเกิด ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่นำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม คณะรัฐมนตรีแล้ว และจะนำเข้าสู่การประชุมของรัฐสภาต่อไป นั้น

วันนี้ “เดลินิวส์ออนไลน์” จึงอยากพาทุกคนมาทำความรู้จักกับ “ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต” ฉบับล่าสุด ที่ที่ประชุม ครม.เห็นชอบร่างพระราชบัญญัตินี้ ว่าและสาระสำคัญ พร้อมทั้งสิทธิ หน้าที่บางอย่างที่สามารถทำได้จะมีอะไรบ้าง ตามมาอ่านกันเลย

สำหรับ “ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต” ร่างแรกเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2556 ในยุครัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ก็เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เพราะสิทธิที่ได้รับจาก พ.ร.บ.คู่ชีวิตมันน้อยมาก แตกต่างจากการสมรส ของชาย-หญิง อย่างสิ้นเชิง

ส่วนสาระสำคัญ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต มีดังนี้

1.คู่ชีวิต หมายถึง บุคคลสองคนซึ่งเป็นเพศเดียวกันโดยกำเนิด และได้จดทะเบียนคู่ชีวิตตาม พ.ร.บ.นี้

2.กำหนดให้ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเยาวชนและครอบครัว มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตาม พ.ร.บ.นี้

3.การจดทะเบียนคู่ชีวิตจะทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองฝ่ายยินยอม มีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ และทั้งสองมีสัญชาติไทย หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทย รวมทั้งกำหนดบุคคล ต้องห้ามไม่ให้จดทะเบียนคู่ชีวิต เช่น ทั้งสองคนเป็นญาติสืบสายโลหิตกัน เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมแต่บิดาหรือมารดา เป็นต้น

4.กรณีที่ผู้เยาว์จะจดทะเบียนคู่ชีวิต ต้องได้รับความยินยอมของบิดา มารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม ผู้ปกครอง หรือศาล และเมื่อจดทะเบียนคู่ชีวิตแล้วผู้เยาว์ย่อมบรรลุนิติภาวะ

5.กำหนดบทบัญญัติเพื่อรองรับลักษณะความสัมพันธ์ของคู่ชีวิต เช่น ต้องอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวและช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน

6.คู่ชีวิตมีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายเช่นเดียวกับสามีหรือภริยา และมีอำนาจดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไปเช่นเดียวกับสามีหรือภริยาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ อาญา)

7.ทรัพย์สินระหว่างคู่ชีวิต แบ่งเป็นสินส่วนตัวและทรัพย์สินร่วมกัน

8.การสิ้นสุดการเป็นคู่ชีวิต คู่ชีวิตย่อมสิ้นสุดลงด้วยความตาย ศาลพิพากษาให้เพิกถอน หรือการเลิกการเป็นคู่ชีวิต รวมทั้งกำหนดเหตุฟ้องเลิกการเป็นคู่ชีวิต เช่น คู่ชีวิตฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันคู่ชีวิต ประพฤติชั่ว ทำร้าย ทรมานร่างกายหรือจิตใจ จงใจละทิ้งอีกฝ่ายหนึ่งไปเกิน 1 ปี

9.บุตรบุญธรรม เมื่อคู่ชีวิตได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขใน พ.ร.บ.นี้ และ ป.พ.พ. แล้ว สามารถรับบุตรบุญธรรมได้ รวมทั้งคู่ชีวิตฝ่ายหนึ่งจะจดทะเบียนรับผู้เยาว์ ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของคู่ชีวิต อีกฝ่ายหนึ่งมาเป็นบุตรบุญธรรมของตนด้วยก็ได้

10.เมื่อคู่ชีวิตฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตาย ให้คู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับคู่สมรสตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยมรดก

11.กำหนดให้นำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยคู่สมรส ครอบครัว และบุตรบุญธรรม มาใช้บังคับแก่คู่ชีวิตด้วยโดยอนุโลมในบางกรณี

ในส่วนของร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีสาระสำคัญ ดังนี้

  • ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมี “คู่สมรส” หรือ “คู่ชีวิต” อยู่ไม่ได้
  • กำหนดให้เหตุฟ้องหย่ารวมถึง กรณีสามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉัน “คู่ชีวิต”
  • ให้สิทธิรับค่าเลี้ยงชีพในกรณีหย่าหมดไป ถ้าฝ่ายที่รับค่าเลี้ยงชีพสมรสใหม่หรือจดทะเบียนคู่ชีวิต

ทั้งนี้ สิทธิที่เกี่ยวข้องกับคู่ชีวิตในกฎหมายฉบับอื่นๆ จะมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อปรับปรุงแก้ไขต่อไป ภายหลังจากร่าง พ.ร.บ.นี้ มีผลบังคับใช้ อย่างไรก็ตาม “เดลินิวส์ออนไลน์” ได้รวบรวมสิทธิ หน้าที่บางอย่างของ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต เสนอโดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม โดยมีดังต่อไปนี้

  1. หน้าที่ในการอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน
  2. อำนาจจัดการแทนผู้เสียหายในคดีอาญาเช่นเดียวกับสามีหรือภริยา
  3. สิทธิรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน
  4. สิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม
  5. สิทธิและหน้าที่ในการเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ หากอีกฝ่ายเป็นคนไร้ หรือเสมือนไร้ความสามารถ
  6. สิทธิเซ็นยินยอมให้รักษาพยาบาลอีกฝ่าย
  7. สิทธิจัดการศพ

ทั้งนี้ ก็มีการเสนอร่างกฎหมายอีกหนึ่งฉบับโดย ส.ส.ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ และคณะฯ จากพรรคก้าวไกล ที่ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฯ (ป.พ.พ.) จากเดิมที่ ป.พ.พ. มาตรา 1448 อนุญาตการหมั้นและการสมรสเฉพาะชายและหญิง เปลี่ยนเป็นอนุญาตให้ ‘บุคคลทั้งสอง’ นั้น (ซึ่งรวมถึงคู่รัก LGBTQ) สามารถหมั้นและจดทะเบียนสมรสเป็นคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย ได้รับสิทธิ หน้าที่ และศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับคู่สมรสชายหญิงทั่วไป โดยสามารถมีสิทธิและหน้าที่ทุกอย่างดังนี้

  1. สิทธิและหน้าที่ในการหมั้นและรับหมั้น : มี
  2. หน้าที่อุปการะเลี้ยงดูกันและกัน : มี
  3. สิทธิเรียกร้องค่าอุปการะ : มี
  4. สิทธิดำเนินคดีอาญาแทนคู่อีกฝ่ายตามประมวลกฎหมายวิธีฯ อาญา : มี
  5. สิทธิจัดการทรัพย์สินร่วมกัน : มี
  6. สิทธิการให้/รับมรดก : มี
  7. สิทธิในการเลิกการเป็นคู่ (หย่า) โดยความยินยอม หรือโดยคำพิพากษาศาล : มี
  8. สิทธิในการฟ้องเลิกการเป็นคู่ (หย่า) โดยเหตุแห่งความผิดของอีกฝ่าย : มี
  9. สิทธิรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน : มี
  10. สิทธิการดำเนินการตั้งครรภ์แทน โดยอาศัยเทคโนโลยีฯ : มี (โดยแก้ไข พ.ร.บ. และระเบียบที่เกี่ยวข้องภายหลัง)
  11. สิทธิในศักดิ์ศรีการเป็น ‘คู่สมรส’ ตาม ป.พ.พ. : มี
  12. หน้าที่เป็นผู้อนุบาล/ผู้พิทักษ์ ถ้าอีกฝ่ายเป็นคนไร้ หรือเสมือนไร้ความสามารถ : มี
  13. สิทธิเซ็นยินยอมรักษาพยาบาลอีกฝ่าย : มี
  14. สิทธิจัดการศพอีกฝ่ายที่เสียชีวิต : มี
  15. สิทธิรับสวัสดิการร่วมจากรัฐในฐานะคู่สมรส : มี
  16. สิทธิในกองทุนประกันสังคมในฐานะคู่สมรส : มี
  17. สิทธิการใช้ชื่อสกุลร่วมกับคู่อีกฝ่าย : มี
  18. สิทธิของคู่ต่างชาติอีกฝ่ายในการขอเปลี่ยนเป็นสัญชาติไทย : มี
  19. สิทธิในการขอวีซ่าในฐานะคู่สมรส : มี
  20. การเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) : เสนอแก้ไข ป.พ.พ. ทั้งบรรพ 5-6 ครอบคลุมการหมั้น การสมรส การรับรองบุตรบุญธรรมร่วมกัน การให้และรับมรดก..