เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองบริหารคดีพิเศษ ในฐานะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยถึงผลการดำเนินคดีลวงขายสินค้าเครื่องตรวจวัตถุต้องสงสัย จีที 200 ว่า ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษ 21 คดี มี 16 คดี ที่ผ่านการพิจารณาจากศาลชั้นต้น ชั้นอุทธรณ์ และชั้นศาลฎีกาแล้ว โดยคดีที่อยู่ในชั้นการพิจารณาของพนักงานอัยการ 4 คดี และอยู่ระหว่างการชี้มูลความผิดของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จำนวน 1 คดี

ทั้งนี้ คดีที่ศาลมีคำพิพากษาแล้วเห็นว่าคดีดังกล่าวมีบริษัทเอกชนได้ทำให้หน่วยงานรัฐจำนวนมากได้รับความเสียหาย เช่น คดีลวงขายจีที 200 ให้กับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์, กรมสรรพาวุธทหารบก, กรมศุลกากร, กรมราชองครักษ์ โดยในชั้นการพิจารณาคดีของศาลมีทั้งการลงโทษปรับบริษัท เอวีเอ แซทคอม จำกัด ข้อหาฉ้อโกงและชดใช้ค่าเสียหายให้กับผู้เสียหาย เช่น กรณีสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ บริษัทเอกชน ต้องชดเชยค่าเสียหายให้เท่ากับราคาที่ผู้เสียหายซื้อเครื่องจริง หรือกรณีของกรมสรรพาวุธทหารบก นอกจากกรรมการบริษัทจะมีโทษในข้อหาฉ้อโกงและถูกส่งศาลสั่งจำคุกแล้วยังต้องจ่ายค่าเสียหายคืนให้ผู้ร้องเป็นเงิน 682,600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 9.5 ต่อปี เป็นต้น

พ.ต.ต.วรณัน กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีคดีที่อยู่ในชั้นการพิจารณาของพนักงานอัยการ 4 คดี คือ คดีลวงขายสินค้าเครื่องตรวจวัตถุต้องสงสัย ALPHA 6 กรณี จ.สุโขทัย จากบริษัท ยูจีซี เอ็นจีเนียริ่ง จำกัด หรือบริษัท กัญจน์พัฒน์ จำกัด, คดีลวงขายเครื่องมือตรวจกับสารเสพติด วัตถุระเบิด จีที 200 ของบริษัท Global Technical limited โดยคดีนี้กองทัพเรือเป็นผู้เสียหาย เป็นคดีนอกราชอาณาจักร มีนายแกรี่ โบลตัน เป็นจำเลยที่ 2 คดีนี้พนักงานอัยการมีความเห็นควรสั่งฟ้องบริษัท โกลบอลฯ ในฐานะนิติบุคคลร่วมกันฉ้อโกง และขอให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ นำตัวผู้ต้องหามาฟ้องภายในกำหนดอายุความ ต่อมาดีเอสไอมีหนังสือถึงอัยการสูงสุดให้ดำเนินการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน แต่อัยการสูงสุดมีหนังสือแจ้งว่า การขอตัวผู้แทนนิติบุคคลเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไม่สามารถทำได้ และได้แจ้งผลให้สำนักงานอัยการคดีพิเศษฝ่ายคดีพิเศษเจ้าของสำนวนทราบแล้ว

ผอ.กองบริหารคดีพิเศษ กล่าวว่า คดีบริษัท แจ็คสัน อีเลคทรอนิคส์ ประเทศไทย จำกัด และบริษัทเอ เอส เอล เอ็ม เทรดดิ้งจำกัด มีพฤติการณ์ร่วมกันฉ้อโกงจัดซื้อเครื่องตรวจหาทิศทางระเบิดหรือยาเสพติดแบบมือถือ ALPHA 6 ของกรมการปกครอง คดีนี้อัยการฝ่ายคดีพิเศษมีคำสั่งไม่ฟ้องบริษัท แจ็คสันฯ เมื่อปี 62 และ ป.ป.ช.ส่งคืนเรื่อง และกรณี ป.ป.ช. กล่าวโทษบริษัท แจ็คสันฯ และบริษัท เอ เอส เอล เอ็ม เทรดดิ้ง จำกัด และ บริษัทเปโตร กรุงเทพฯ รวมทั้งกรรมการบริษัทและตัวแทนบริษัทว่าทำผิดตาม พ.ร.บ.เสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ คดีนี้อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องบริษัทฯ แต่ดีเอสไอมีความเห็นแย้งเมื่อวันที่ 4 ต.ค. และขอให้อัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้องไปก่อนเนื่องจากคดีจะขาดอายุความ วันที่ 8 ต.ค.62 ต่อมาจึงมีคำสั่งฟ้อง แต่พนักงานสอบสวนไม่สามารถนำตัวผู้ต้องหามาฟ้องได้ทัน คดีจึงขาดอายุความ

พ.ต.ต.วรณัน กล่าวอีกว่า ส่วนคดีที่อยู่ระหว่างการชี้มูลความผิดของ ป.ป.ช. อีก 1 คดี คือ คดีบริษัท แจ็คสันฯ กับพวกร่วมกันหลอกลวงขายเครื่องตรวจหาสารเสพติดยี่ห้อ ALPHA 6 ที่ไม่มีประสิทธิภาพให้กรมการปกครอง และดีเอสไอได้ส่งสำนวนให้ ป.ป.ช.ดำเนินการต่อแล้ว