เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางหลังจาก เพจเฟซบุ๊ก “วันนั้นเมื่อฉันสอน” ซึ่งเป็นเพจที่เล่าถึงการเรียนการสอนจากคุณหนุ่มในโรงเรียนต่างจังหวัดแห่งหนึ่ง โดยคราวนี้เป็นการเปิดเผยความในใจ หลังจากพบว่าปัญหาเด็กหิ้วหรือแบก หนังสือเรียนหลายกิโลกรัมมาเรียนทุกวัน แต่กลับถูกละเลยจากบุคคลากรทางการศึกษาเสียเอง เนื่องจากมองว่า นักเรียนนั่นแหละที่เป็นปัญหาเพราะไม่ยอมจัดตารางสอน ทั้งที่ความจริงมีการจัดเรียบร้อยแล้ว เอาหนังสือบางส่วนไว้ใต้โต๊ะเรียนตัวเองแล้ว แต่สุดท้ายก็ยังแบกหนังสือหลายกิโลกรัมอยู่ดี….

โดยทางเพจระบุข้อความว่า “….ทุกวันนี้คนที่พูดเรื่องปัญหาการศึกษากลับไม่ใช่คนในวงการศึกษาเสียแล้ว เพราะครูในระบบหมดแรงอ่อนล้าที่จะต่อสู้ เนื่องจากพูดไปก็เท่านั้นไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แต่ตอนนี้ภาคสังคมอย่างเพจ Drama-addict และสำนักข่าวอื่น ๆ ได้มีการตีประเด็นต่าง ๆ ที่ทั้งผู้ใหญ่และเด็กที่เคยผ่านระบบโรงเรียนต้องเคยเห็นปัญหาเหล่านี้แต่ไม่เคยพูดถึงเป็นวงกว้าง เช่น น้ำหนักกระเป๋าที่นักเรียนแบก, ความจำเป็นของเครื่องแบบลูกเสือ, กฎแปลก ๆ ในโรงเรียน ทรงผม สีถุงเท้า, ก็ต้องขอบคุณอย่างมาก ที่เป็นกระบอกเสียงแทน เพราะการศึกษาเป็นเรื่องของทุกคน ลำพังแค่ครูอย่างเดียวไม่สามารถเปลี่ยนอะไรได้ เพราะไม่มีใครฟังเสียงครูเลย ทุกคนจึงควรช่วยกันพูด หากการศึกษาดีประเทศก็พัฒนา เมื่อประเทศพัฒนาเราก็ได้พลเมืองที่มีคุณภาพย้อนกลับมาทำคุณประโยชน์ให้แก่เราทางอ้อม ไม่ต้องไปวิ่งจับโจรผู้ร้าย ที่เข้าไม่ถึงการศึกษาที่ไม่มีคุณภาพ แล้วทำไมปัญหาในระบบการศึกษาไทย มันจึงยังเปลี่ยนอะไรไม่ได้ วันนี้จะไขคำตอบให้ฟัง…

ส่วนหนึ่งที่ปัญหาต่าง ๆ ในการศึกษาไทยไม่สามารถเเก้ไขได้ คำตอบก็เพราะตัวของคนในวงการศึกษาเอง ไม่ได้มองว่ามันเป็นปัญหา พูดอย่างนี้จากใจจริง ไม่ว่าครูหรือนักเรียนจะพูดหรือสะท้อนอะไรไป ก็ไม่มีใครรับฟัง ถ้าปัญหาในวงการศึกษามีคนจริงใจที่จะแก้ไขมันจริง ๆ มันจะไม่มีคำว่า “ปฏิรูปการศึกษา” ออกมาให้เราได้ยินซ้ำ ๆ อีกเลย การที่มันยังคงอยู่ก็เพราะว่าที่ผ่านมามันไม่เคยได้มีการแก้ปัญหาอะไรอย่างเป็นรูปธรรม ตัวอย่างของชุดความคิดที่คนในวงการศึกษาไม่คิดว่ามันเป็นปัญหาเช่น เมื่อมีการพูดเรื่อง น้ำหนักของกระเป๋าที่นักเรียนไทยต้องแบกคนที่เป็นครูเองแท้ ๆ ก็โยนปัญหาไปแล้วบอกว่า “นักเรียนมักง่าย” พร้อมให้เหตุผลว่าที่ต้องเเบกหนักเพราะไม่ยอมจัดตารางสอนเอง ซึ่งไม่ได้มีความคิดเห็นเดียวนะครับที่บอกในทำนองนี้ สิ่งนี้กำลังบ่งบอกว่า เมื่อมีการพูดถึงปัญหาที่เกิดขึั้นแทนที่คนในวงการศึกษาเองจะตระหนักและตรวจสอบข้อเท็จจริงแต่กลับบอกว่ามันไม่ใช่ปัญหา เหมือนกับคนในยุคหนึ่งที่เชื่อว่าโลกแบน พอมีคนมาบอกว่าโลกอาจจะกลม เขาก็ไม่เอะใจหรือสงสัยอะไรเลย

ตัวผมเองในชีวิตการทำงานก็เคยเจอเหตุการณ์ในลักษณะนี้ เมื่อเราพูดถึงปัญหาเพื่อที่จะหาทางแก้ไขร่วมกันแต่คำตอบที่ได้คือ “ผมไม่คิดว่ามันเป็นปัญหา” และโยนมาว่าตัวคนพูดเองนั่นแหละจัดการปัญหาไม่ดีเอง กลับมาที่น้ำหนักหนังสือที่นักเรียนแบกเป็นปัญหาจริงหรือเปล่าหรือเป็นเพราะเด็กแค่มักง่ายจริง ๆ มาลองคิดอย่างนี้ว่าหากใน 1 วันเรียน 6 วิชาแต่ละวิชามี 1.หนังสือเรียน 2.แบบฝึกหัด 3. สมุดจด เมื่อนำจำนวนวิชามาคูณจำนวนหนังสือจะได้สิ่งที่นักเรียนต้องแบก 6 x 3 = 18 เล่ม แต่อาจจะไม่ต้องมีแบบฝึกทุกวิชา ถัวเฉลี่ยไปเด็กก็อาจจะต้องนำสมุดและหนังสือมาโรงเรียนราว ๆ 10-12 เล่ม ซึ่งต่อให้จัดตารางเรียนเป็นอย่างดีแล้วก็ตาม ไม่เป็นคนมักง่าย เขาก็ต้องแบกหนักอยู่ดี อีกทั้งน้ำหนักที่แบกไม่ได้มีแค่หนังสือ แต่ยังมี น้ำหนักของตัวกระเป๋าเอง ขวดน้ำดื่ม แก้วน้ำ แปรงสีฟัน ยาสีฟัน ช้อนส้อม อุปกรณ์การเรียนต่าง ๆ วิธีแก้ปัญหานี้คืออาจให้เด็กเอาหนังสือไว้ที่โรงเรียนเอากลับเฉพาะการบ้านหรือเล่มที่อยากอ่านแต่บางโรงเรียนก็มีกฎแปลก ๆ เช่น “ห้ามนำหนังสือไว้ใต้โต๊ะ” ทำให้บางโรงเรียนเด็กจำต้องแบกหนักอย่างไม่มีทางเลี่ยง

ผู้เขียนเองมองว่าเรื่องนี้เป็นปัญหา ในห้องเรียนจึงอนุญาตให้นำหนังสือไว้ใต้โต๊ะได้โดยที่ไม่มีการหายเกิดขึ้น เป็นการฝึกความรับผิดชอบของเขา หากหายก็ให้รับผิดชอบเองและตัวผมเองก็จะเก็บเล่มเก่า ๆ ไว้จึงแก้ปัญหาจากการหายได้ ถ้าไม่ให้เอาอะไรไว้ใต้โต๊ะนักเรียนก็ต้องถามว่า “แล้วผู้ผลิตโต๊ะทำช่องใต้โต๊ะเหล่านี้มาไว้ทำไม?” แต่อย่างที่บอกนั่นแหละ ถ้าคนในวงการศึกษาเขาไม่มองว่ามันเป็นปัญหาสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นก็จะไม่มีการแก้ไข เพราะมันง่ายกว่าที่จะบอกว่าคนพูด คนนั้นคือคนผิด คือคนที่มีปัญหา ที่ผ่านมาเขาก็อยู่กันได้ ทำไมมาตอนนี้จะอยู่ไม่ได้ ตัวระบบมันดีอยู่แล้ว ไม่มีใครมีปัญหา เธอนั่นแหละที่เป็นปัญหาและถ้าอยู่ไม่ได้ทนไม่ไหวก็ลาออกไป๊…

ภายหลังจากภาพและข้อความเกี่ยวกับปัญหาเด็กนักเรียนแบกกระเป๋าหนักถูกเผยแพร่ออกไป ปรากฏว่ามีชาวเน็ตเข้ามาวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ส่วนใหญ่อยากให้มีการปฏิรูปการเรียนการสอน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ทั้งครูและเด็ก สามารถสอนและเรียนได้ง่ายขึ้น ไม่อยากให้เด็กต้องแบกกระเป๋าหนัก แม้จะจัดตารางสอนไปแล้วก็ตาม รวมทั้งมีการเปรียบเทียบการเรียนในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท ซึ่งจะอาศัยเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเหลือ ทำให้ไม่จำเป็นต้องแบกเอกสารในการเรียนหรือการพรีเซ็นต์งานมากมาย จึงอยากให้ลองนำมาปรับใช้กับเด็ก ๆ อีกด้วย.