เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. นายอิทธิพร แก้วทิพย์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ให้ความเห็นภายหลังศาลมีคำพิพากษาคดี พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือ ผกก.โจ้ อดีต ผกก.สภ.เมืองนครสวรค์ กับพวก ฆ่าทารุณร่วมกันใช้ถุงดำคลุมศีรษะ นายจิระพงศ์ ธนะพัฒน์ อายุ 24 ปี หรือ มาวิน ผู้ต้องหาคดียาเสพติดจนเป็นเหตุให้เสียชีวิต ว่า กรณีมีคนสงสัยว่า ศาลลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต พ.ต.อ.ธิติสรรค์ กับพวก 6 คนตลอดชีวิต และจำเลยที่ 6 โดนโทษจำคุก 5 ปี 4 เดือน อัยการจะยื่นอุทธรณ์อีกหรือไม่ ซึ่งอธิบดีอัยการคดีศาลสูงจะเป็นผู้พิจารณา เพราะถึงแม้ศาลจะจำคุกตลอดชีวิต แต่อัยการจะอุทธรณ์หรือไม่อุทธรณ์ก็ได้ ขอยกตัวอย่างเช่น หากศาลลดโทษลงมาแล้ว โทษน้อยเกินไป อัยการก็อุทธรณ์ให้ลงโทษหนักขึ้น ส่วนคดีนี้เข้าใจเบื้องต้นว่าศาลลงโทษทุกข้อหา และประหารชีวิตเต็มตามฟ้องของอัยการแล้ว ส่วนที่ศาลลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต เพราะปรากฏว่ามีเหตุลดโทษกับจำเลยก็ได้บรรเทาผลร้ายแล้ว อันนี้ก็เป็นดุลพินิจของศาลแล้ว

อย่างไรก็ตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 วรรคสอง บัญญัติว่า ในคดีที่ศาลชั้นต้นลงโทษประหาร หรือจำคุกตลอดชีวิต และจำเลยไม่มีการอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นต้องส่งสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ และคำพิพากษายังไม่ถึงที่สุด เว้นแต่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ก็คือว่า คดีที่ศาลระวางโทษสูงถึงประหารจำคุกตลอดชีวิต บางทีจำเลยไม่ยอมยื่นอุทธรณ์ก็มี กฎหมายต้องการให้มีการกรองอีกครั้งโดยศาลสูง ถ้าศาลอุทธรณ์ยังเห็นด้วยกับศาลชั้นต้น คดีก็ถึงที่สุด

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในการที่บิดามารดาผู้เสียหายเป็นโจทก์ร่วม มีคำขอส่วนแพ่ง (ฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องอาญา) เข้ามาแต่ศาลไม่ให้  เพราะเป็นกรณีตำรวจทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ ต้องไปใช้ช่องทางตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ มาตรา 5 นั้น อัยการมีหน้าที่ต้องแก้ต่างให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือไม่ นายอิทธิพร กล่าวว่า แม้เป็นหน้าที่ของพนักงานอัยการจะต้องแก้ต่างให้หน่วยงานของรัฐ ในกรณีถูกฟ้องเพราะเจ้าหน้าที่ในสังกัด ไปทำละเมิด เพราะเจ้าหน้าที่อ้างว่าทำไปตามหน้าที่ ผู้เสียหายจะฟ้องเจ้าหน้าที่โดยตรงไม่ได้นั้น แต่มีประเด็นต้องพิจารณาว่า ที่อ้างว่า เจ้าหน้าที่ทำไปตามหน้าที่นั้น มันจริงหรือไม่ ไม่ใช่ว่าอัยการจะรับให้ทุกเรื่อง ดังนั้น อัยการอาจจะไม่รับแก้ต่างให้ก็ได้เป็นดุลพินิจอัยการ ประเด็นต่อมา หากเป็นการทำละเมิดเนื่องในการปฏิบัติหน้าที่จริง แต่ฝ่ายผู้เสียหายตั้งฟ้องทุนทรัพย์สูงจนเกินไป เช่น บางคดีเรียก 50 ล้าน ทั้งที่ความจริงเสียหายไม่ถึง 5 แสนบาท อัยการก็ต้องพิสูจน์ในศาลว่า ค่าเสียหายไม่ถูกต้อง