วันที่ 9 มิ.ย. สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดงานเนื่องในโอกาสวันสถาปนาครบรอบ 24 ปี ในวันที่ 9 มิ.ย.นี้ โดยในช่วงเช้าจะมีการบวงสรวงองค์พระพรหม บริเวณศาลพระพรหม ศูนย์ราชการ จากนั้นจัดพิธีสงฆ์ โดยท่านเจ้าประคุณสมเด็จมหารัชมงคลมุนี เจ้าคณะใหญ่หนกลาง เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ หลังจากนั้นในช่วงบ่ายมีการปฐกถาพิเศษเรื่อง “การส่งเสริมเสถียรภาพและธรรมาภิบาลทางการเมือง” โดยนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา 

จากนั้นมีการเสวนาวิชาการ เรื่อง “แนวโน้มการเมืองไทยหลังการเลือกตั้งด้วยบัตร 2 ใบ” มีนายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. (ฉบับที่… พ.ศ. … นายเจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการทางกฎหมาย ร่วมเสวนา ทั้งนี้ นายสาธิต กล่าวถึงข้อห่วงกังวลหลังที่ประชุมรัฐสภา ลงมติไม่เห็นด้วยให้เลื่อนร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง 2 ฉบับ ขึ้นมาพิจารณาก่อนร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. … ยืนยันว่า ไม่มีผลกระทบ หากดูตามกระบวนการและขั้นตอนต่างๆ เชื่อว่าร่างกฎหมายจะเสร็จทันต่อสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น เพื่อเป็นเครื่องมือรองรับการเลือกตั้ง ช่วยให้การเลือกตั้งเป็นที่เข้าใจตรงกันและเป็นที่ยอมรับได้ ส่วนกติกาบัตรเลือกตั้งแบบ 2 ใบ มองว่าจะเป็นประโยชน์และทำให้ประชาชนได้เลือกพรรคการเมืองที่ชอบและนักการเมืองที่เป็นผู้แทนของประชาชนได้ แม้อาจจะถูกมองว่าคะแนนผู้ที่ได้ลำดับที่ 2 ถูกทิ้งน้ำไป แต่จะถูกทดแทนด้วยระบบบัญชีรายชื่อ 100 คน ซึ่งต้องไปคำนวณตามเกณฑ์เฉลี่ยของกฎหมาย ซึ่งสัดส่วนอาจไม่ได้เท่ากับคะแนนที่ตกน้ำไป แต่เชื่อว่าจะช่วยสะท้อนความต้องการของประชาชนได้ระดับหนึ่ง จึงคิดว่าบัตรเลือกตั้งแบบ 2 ใบได้ประโยชน์มากกว่า

ขณะที่นายเจษฎ์ กล่าวว่า ต้องบอกว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมไม่สมบูรณ์ ยังแก้ไขไม่สะเด็ดน้ำเพียงพอที่จะสามารถนำมาใช้งานได้ในทางปฏิบัติได้จริง โดยเกิดจากข้อน่าเสียดาย คือ พรรคพลังประชารัฐ มั่นใจเกินไปว่าหากเสนอสิ่งใดไป ทาง ส.ว.และ ส.ส.ส่วนใหญ่ จะลงมติเห็นด้วยให้เสมอ จึงไปเอารัฐธรรมนูญ มาตรา 144 ว่าด้วยเรื่องงบประมาณ นำไปใส่ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้ส.ส.ใช้งบได้ แต่เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ต่อสู้กันมานานว่าจะกันไม่ให้ฝ่ายนิติบัญญัติเข้ามาใช้งบประมาณ เมื่อนำไปเขียนไว้ ทางส.ว.ก็ไม่สะดวกใจที่จะลงมติจึงทำให้ร่างนั้นตกไป ส่วนร่างพรรคเพื่อไทย ยกให้เป็นร่างที่ดีที่สุด เปิดให้ประชาชนได้ตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) แต่เมื่อเป็นการเมือง ทางส.ว.เขาไม่เอาร่างพรรคเพื่อไทยอยู่แล้ว จึงตีร่างที่ดีตกไป ส่วนร่างพรรคประชาธิปัตย์  เป็นร่างที่ไม่สมบูรณ์ ไม่แก้ระบบเลือกตั้งให้ครบเลย แต่ปรากฏว่าร่างของพรรคประชาธิปัตย์ผ่าน จึงกลายเป็นปัญหาสืบเนื่องมาจนมีรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ไม่สมบูรณ์ และเรากำลังจะมีร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ที่ไม่สมบูรณ์ต่อไปอีก 

“เมื่อแม่ไม่สมบูรณ์ ตอนไปปรับแต่งแม่ อยากให้ได้ลูกที่สมบูรณ์กว่านั้นไปคัดเอาเซลล์เอายีนที่ดีของแม่มา แต่ปรากฏว่าหยิบพลาดมาอีก แล้วจะได้ลูกที่ดีได้อย่างไร เป็นไปไม่ได้ สุดท้ายต้องนำลูกนั้นมา เพราะทำอะไรไม่ได้ ต้องนำลูกไปใช้  นี่ยังไม่นับว่าหากยุบสภาตอนนี้จะเกิดอะไรขึ้น  ตอนนี้เปรียบเหมือนแม่ตั้งท้องแล้ว เพราะมีร่าง พ.ร.ป.มาแล้ว ล้มตอนนี้คือทำแท้งเขา สุดท้ายก็แก้พันธุกรรมแม่ไม่ได้” นายเจษฎ์ กล่าว

นายเจษฎ์ กล่าวว่า หากออกเป็นพระราชกำหนดก็จะเถียงกันอีก เพราะรัฐธรรมนูญ ระบุไว้ว่าการออกพระราชกำหนดได้ เช่น พระราชบัญญัติ แต่ประเทศนี้ไม่เคยถกกันว่าตกลงลำดับศักดิ์ว่ารัฐธรรมนูญสูงสุด พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ รองลงมา แล้วตามด้วยพระราชบัญญัติ เขียนไว้ที่ใดและเป็นเช่นนั้นหรือไม่ แต่บ้านอื่นเมืองอื่นเขาเขียนไว้ว่าชัดเจน แถมตอนปฏิวัติรัฐประหาร กลับให้ พ.ร.บ.ทั้งหลายคงอยู่ แต่ พ.ร.ป.ที่สืบเนื่องกับรัฐธรรมนูญกลับไปหมด แบบนี้ตลกหรือไม่  

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงท้ายของการเสวนาได้เปิดให้ผู้ร่วมงานได้สอบถามซึ่งมีคำถามที่น่าสนใจว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ควรยุบสภาหรืออยู่ครบวาระ นายเจษฎ์ กล่าวว่า เพื่อความได้เปรียบทางการเมือง ยุบสภาฯใกล้หมดวาระ เพราะหากรอหมดวาระทุกคนรู้หมดว่าเมื่อใด เพราะฉะนั้น จะใช้เวลาที่กำลังมารุมมาตุ้มแล้วยุบสภาฯ โดยยุบช่วงที่ได้เปรียบที่สุดและไม่หากจากการหมดวาระ ยกเว้นกรณีเดียวคืออยากเอาชนะ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่อยู่ครบวาระ 4 ปี หากยุบสภาก่อนจะไม่ได้สถิตินี้ แต่ถ้าจะชิงความได้เปรียบทางการเมืองก็ยุบใกล้ๆ ที่จะหมดวาระ.