นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ภาพรวมปริมาณผู้โดยสารที่มาใช้บริการระบบขนส่งทางราง ทั้งรถไฟ, รถไฟฟ้า, รถไฟฟ้า MRT, รถไฟฟ้า BTS, รถไฟชานเมือง (สายสีแดง) และ รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ทะลุ 1 ล้านคนต่อวันแล้ว ตั้งแต่ต้นเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นการเติบโตที่มั่นคง แต่ยังน้อยกว่าช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งภาพรวมผู้โดยสารขนส่งทางรางทุกระบบจะอยู่ที่ประมาณ 1.2 ล้านคนต่อวัน อย่างไรก็ตาม คงต้องรอให้ประเทศจีน และญี่ปุ่นเปิดประเทศ และนักท่องเที่ยวเดินทางกลับมาท่องเที่ยวประเทศไทยก่อน เมื่อถึงเวลานั้น ตัวเลขผู้โดยสารจะกลับมาสู่ปกติแน่นอน

นายพิเชฐ กล่าวต่อว่า ตั้งแต่ต้นเดือน มิ.ย.65 มหาวิทยาลัยต่างๆ เปิดเรียนแบบออนไซต์ ประกอบกับก่อนหน้านี้รัฐบาลเปิดประเทศ ยกเลิกมาตรการ Test & Go และโรงเรียนเปิดเรียนแบบออนไซต์ ทำให้ปริมาณผู้โดยสารโดยเฉพาะวันทำงานเพิ่มขึ้นทะลุ 1 ล้านทุกวัน ส่งผลให้ในชั่วโมงเร่งด่วน (peak) ผู้โดยสารค่อนข้างหนาแน่น และแออัด 

ซึ่ง ขร. กำชับผู้ให้บริการเพิ่มความถี่ และให้บริการเดินรถได้เต็มความจุสูงสุดตามมาตรฐานของแต่ละขบวนรถ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสาร และลดความแออัด ทั้งนี้ปัจจุบันยังคงเน้นย้ำผู้ให้บริการขนส่งทางรางทุกระบบปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด ทั้งการกำกับดูแลให้ผู้โดยสารสวมหน้ากากอนามัย และงดพูดคุยตลอดเวลาที่อยู่ภายในขบวนรถ และบริหารจัดการความหนาแน่นภายในขบวนรถไม่ให้เกินมาตรฐานที่เหมาะสม

นายพิเชฐ กล่าวอีกว่า จากข้อมูลล่าสุดพบว่า เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.65 ทำสถิติตัวเลขผู้โดยสารขนส่งทางรางทุกระบบสูงที่สุด (นิวไฮ) นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยผู้โดยสารอยู่ที่ประมาณ 1.1 ล้านคน ประกอบด้วย รถไฟ 5.67 หมื่นคน, รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์ 5.26 หมื่นคน, รถไฟระบบชานเมือง (สายสีแดง) 1.4 หมื่นคน, รถไฟฟ้า MRT 3.47 แสนคน และรถไฟฟ้า BTS 6.38 แสนคน 

อย่างไรก็ตามหากพิจารณาจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยต่อวัน หลังผ่อนคลายมาตรการเพื่อรองรับการเปิดประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.65 ถึงปัจจุบัน พบว่า ปริมาณผู้โดยสารในระบบขนส่งทางรางทุกระบบ อยู่ที่ประมาณ 8.1 แสนคนต่อวัน ยังน้อยกว่าช่วงปี 62 ซึ่งเป็นช่วงก่อนการแพร่ระบาดฯประมาณ 34%