เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 9 อนุมัติหมายจับ กลุ่มบริษัทเอกชนที่เข้าร่วมการประมูลจัดซื้อรถซ่อมบำรุงทางอเนกประสงค์ ครั้งที่ 1 และ 2 ของ 2 คัน ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สงขลา เมื่อปี 2555 รวมวงเงินกว่า 50 ล้านบาท แล้ว ตามการยื่นคำร้องของพนักงานอัยการ ภายหลังพนักงานสอบสวน สภ.เมืองสงขลา มีความเห็นควรสั่งฟ้องกลุ่มเอกชนดังกล่าว ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 264 และ 268 และตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 4, 14 (2) และมาตรา 14 วรรคสาม ฐานร่วมกัน ตกลงร่วมกันในการเสนอราคาเพื่อวัตถุประสงค์ที่จะให้ประโชน์แก่ผู้ใดผู้หนึ่งทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ โดยหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม หรือโดยกีดกันมิให้มีการเสนอสินค้าหรือบริการอื่นต่อหน่วยงานรัฐ หรือโดยการเอาเปรียบแก่หน่วยงานรัฐอันมิใช่เป็นไปในทางการประกอบธุรกิจปกติ

รายชื่อกลุ่มบริษัทเอกชนดังกล่าว ได้แก่ นางญาณี ลิ้มสถิรานันท์ หรืออารยะทรงศักดิ์ นางชวลี เทียนงามสัจ บริษัท เอ็กซ์ ทู ที อินดัสตรี จำกัด โดยนายสุรพงษ์ ตรียานนท์ บริษัท คีเอทอินโนเวชั่น จำกัด โดยนางชวลี เทียนงามสัจ บริษัท อะมีลัม จำกัด โดยได้แก่ นางญาณี ลิ้มสถิรานันท์ หรืออารยะทรงศักดิ์

ทั้งนี้การออกหมายจับดังกล่าว เกิดขึ้นวันเดียวกับศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษาให้ อบจ.สงขลา จ่ายเงินให้แก่บริษัทที่ชนะการประมูล อย่างไรก็ตามในช่วงที่เกิดเหตุดังกล่าว นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายก อบจ.สงขลา มีคำสั่งชะลอการจ่ายเงินให้แก่ผู้ชนะการประมูล เนื่องจากมีพยานหลักฐานเชื่อได้ว่า เกิดการฮั้วประมูลเกิดขึ้น และดำเนินการแจ้งความแก่ สภ.เมืองสงขลา เพื่อสอบสวนเรื่องดังกล่าว ส่งผลให้นายนิพนธ์ถูกร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวหาว่า ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ กรณีไม่ยอมชำระเงินค่าซื้อรถซ่อมบำรุงทาง โดย ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดนายนิพนธ์ และส่งสำนวนไปยังอัยการสูงสุด (อสส.) ต่อมามีการตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างฝ่ายอัยการและฝ่าย ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ทางคดี สุดท้ายไม่มีข้อยุติ และ อสส.มีคำสั่งชี้ขาดไม่ฟ้องนายนิพนธ์ โดยส่งสำนวนคืนไปยัง ป.ป.ช. และล่าสุด ป.ป.ช. มีมติจะดำเนินการฟ้องคดีนี้เอง