เริ่มส่งสัญญาณคุกรุ่นมากยิ่งขึ้นทุกขณะ สำหรับ “อุณหภูมิทางการเมือง” ที่ไต่ระดับความร้อนระอุขึ้นอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางการโยนฟืน-โหมแรงไฟของฝ่ายค้าน ที่เช็ดเขียงรับมีดเตรียมเปิด “ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ” ถล่มรัฐบาลกลางสภา!

โดยงานนี้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เตรียมนำทีมพรรคร่วมฝ่ายค้าน ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ในวันที่ 15 มิ.ย. โดยมีการประกาศเปิดศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ภายใต้ยุทธการ “เด็ดหัว สอยนั่งร้าน” จำนวน 10 คน ใน สูตร 1+9 คือ “บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล พ่วงด้วย พี่ใหญ่-พี่รอง คือ “บิ๊กป้อม”พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และ “บิ๊กป๊อก”พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย

ส่วนรัฐมนตรีที่เหลือ คือคนที่ฝ่ายค้านให้นิยมจำกัดความว่า นั่งร้าน” ของรัฐบาล ซึ่งประกอบด้วยรัฐมนตรีจาก 3 พรรคการเมืองหลัก ทั้ง พลังประชารัฐ-พรรคภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์ ไล่ตั้งแต่ “เสี่ยหนู”นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข จุรินทร์ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เฉลิมชัยศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน และปิดท้ายด้วย สันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง

ทั้งนี้มีการตั้งโจทย์กรอบเนื้อหาการอภิปรายไม่ไว้วางใจ รวม 6 ประเด็น 1.เนื้อหามุ่งเน้นไปที่ความผิดพลาดล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดินของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 2.จงใจฝ่าฝืนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม 3.การทุจริตต่อหน้าที่ เอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเองและพวกพ้อง 4.ไม่ปฏิบัติตามนโยบายที่ได้แถลงต่อรัฐสภา 5.การละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน 6.การทำลายประชาธิปไตย และระบบรัฐสภา ซึ่งงานนี้ฝ่ายค้านยืนยันว่า มีใบเสร็จการเมืองรัฐมนตรีทำผิดต่อกฎหมาย ส่วนนายกฯ ต้องได้รับผลพวงจากหน้าที่กำกับดูแลและมั่นใจการอภิปรายครั้งนี้นำไปสู่การล้มรัฐบาล!

แม้เกมการเมืองในสภาจากการรวมเสียงโหวตผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 จะทำให้รัฐบาลพอยิ้มออก ทั้งการคุมเสียงพรรคเล็กที่ทำได้แบบไม่แตกแถว หรือการเพิ่มแต้มจาก ส.ส.ฝ่ายค้านที่ช่วยยกมือโหวตอย่างแข็งขัน

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการจะหมายรวมเอาตัวเลขเสียงในสภาดังกล่าว มาวิเคราะห์เทียบเคียงกับการสู้ศึกซักฟอก คงเป็นไปได้ยาก เพราะยังมีอีกหลายปัจจัยที่อาจจะส่งผลให้ “สมการการเมือง” ในสภาเปลี่ยนไป ทั้งความแตกต่างระหว่าง การพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ที่ถือเป็นกฎหมายสำคัญที่ส่งผลกระทบของคนทั้งประเทศ การโหวตผ่านของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล จึงเป็นเรื่องปกติวิสัย แต่การอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นเรื่องที่ต่างออกไป เพราะเป็นเรื่อง “เฉพาะตัว” ของรัฐมนตรีที่ถูกอภิปราย และมีการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นรายบุคคล ก็ย่อมทำให้การโหวตแต่ละคนมีเสียงสนับสนุนที่แตกต่างกัน ซึ่งหากสแกนเสียงในสภากับบริบทการอภิปรายไม่ไว่วางใจ ก็มีความเป็นไปได้ว่าผู้ถูกอภิปรายบางคนอาจจะได้เสียงไว้วางใจ จาก ส.ส.ฝ่ายค้านที่เคยโหวตสวนมติพรรคแบบแลนด์ไสลด์ แต่ก็คงไม่ใช่ว่ารัฐมนตรีทุกคนจะได้เสียงสนับสนุนในส่วนนี้

ขณะที่เสียงของพรรคร่วมรัฐบาลเอง โดยเฉพาะในส่วนของ พรรคเศรษฐกิจไทย ภายใต้การนำของ “ผู้กองธรรมนัส” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่เคยสร้างปรากฎการณ์เขย่าเก้าอี้นายกฯในศึกซักฟอกครั้งที่แล้ว อาจจะปัดฝุ่นฟื้นแผนเขย่าเก้าอี้ขึ้นอีกครั้ง รวมทั้งบรรดากลุ่มพรรคเล็ก ที่อาจจะรวมตัวกันสร้างอำนาจต่อรองรัฐบาล หรืออาจจะเล่นหนักจนถึงขึ้นรวมเสียงเขย่าเก้าอี้รัฐมาตรีบางคน จนเกิดปรากฏการณ์แลนด์ไสลด์นอกเกมเกิดขึ้นให้ได้เห็นกันหรือไม่

ดังนั้นก็คงจะต้องจับตากันดูให้ดีว่าเกมรวมเสียงสะสมแต้มของรัฐมนตรีแต่ละคนจะเป็นไปในทิศทางใด โดยเฉพาะการคุมเสียงพรรคเล็ก ที่ต่างฝ่ายต่างก็ออกแอ๊คชั่นกันยกใหญ่ ว่าสามารถคุมเสียงพรรคเล็กได้ ทั้ง “มือประสานในพรรคพลังประชารัฐ” และ “คีย์แมนในพรรคเศรษฐกิจไทย”

สุดท้ายก็ต้องรอดูกันว่างานนี้รัฐมนตรีที่ถูก “หมายหัว” จะรอดตัวผ่านศึกซักฟอกครั้งนี้ไปได้หรือไม่ จะมีใครต้องตายกลางสภาหรือไม่…เดี๋ยวก็คงได้รู้กัน

ปรับโฟกัสมาที่ท่าทีของรัฐบาล ซึ่งล่าสุด “บิ๊กตู่” ส่งสัญญาณอยู่ยาวชัดมากขึ้นเรื่อยๆ ท่ามกลางกระแส ข่าวลือ-ข่าวเสี้ยม อื้ออึงว่า “บิ๊กตู่” เตรียมจะเข้ามาทำงานการเมืองเต็มตัว โดยสมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ และจะดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคแทน “บิ๊กป้อม” ที่จะขยับไปนั่งเก้าอี้ประธานที่ปรึกษาพรรค ซึ่งข่าวลือที่เกิดขึ้นมีการมองว่าเป็นเหมือนกับการโยนหินถามทาง หวังทะลวงอำนาจในพรรคพลังประชารัฐ ด้วยโจทย์ที่ถูกมองว่า อำนาจในพรรคพลังประชารัฐที่ “บิ๊กป้อม” ถืออยู่เป็นส่วนหนึ่งที่ “บิ๊กตู่” ไม่สามารถคุมได้ จนเกิดปัญหาระหว่างฝ่ายบริหาร และคนคุมพรรคพลังประชารัฐ

แต่งานนี้ “บิ๊กตู่” ก็ออกมาปฏิเสธชัดว่า “ผมยังไม่คิดไปไกลขนาดนั้น คิดแค่ว่าจะทำยังไงประคับประคองรัฐบาลนี้ให้ครบวาระ ในวันหน้าก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับประชาชน”

ทั้งนี้เมื่อจับสัญญาณความเคลื่อนไหวภายในพรรคพลังประชารัฐ จะเห็นได้ว่ากลุ่มขั้วอำนาจใหญ่ยังคงอยู่ในมือ “บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม” ขณะที่ปฏิกิริยาของแต่ละขั้วก็แสดงออกให้เห็นได้ชัดว่าไม่ลงรอยกันเป็นระยะๆ ดังนั้นการเดินเกมที่มีเป้าหมายให้ “บิ๊กตู่” ผงาดขึ้นกุมบังเหียนพรรคพลังประชารัฐ โดยมี “แรมโบ้อีสาน” เสกสกล อัตถาวงศ์ อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี เป็นแม่ทัพนายกอง พร้อมยึดองคาพยพ กปปส. เป็นฐานกำลังหลักทางการเมืองนั้น คงไม่ใช่ภาพที่คนในพรรคพลังประชารัฐอยากเห็น ดังนั้นจึงกลายเป็น “โจทย์บังคับ” สมการอำนาจที่ว่า “บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม” ต้องเดินไปด้วยกันเท่านั้นจึงจะการันตีได้ว่ารัฐบาลจะไปถึงฝั่งฝันได้

แต่การจะเดินไปด้วยกันของ “พี่ใหญ่-น้องเล็ก” หลังจากนี้ อาจจะต้องมีการเกลี่ยอำนาจเติมกำลังให้ “พี่ใหญ่” มากกว่าแค่เก้าอี้รองนายกฯอย่างที่เป็นอยู่หรือไม่ เพื่อเรียกขวัญกำลังใจในช่วงสุดท้ายของรัฐบาล

ส่วนโจทย์การต่อยอดต่อไปหลังเลือกตั้ง กลุ่มอำนาจเดิมจะสามารถนำสู่การเป็นรัฐบาลต่ออีกครั้งหรือไม่นั้น คงจะต้องอาศัยการปรับกระบวนทัพใหม่กันทั้งหมด เพื่อให้ทันกระแสการเมืองยุคใหม่ อย่างไรก็ตามยังมีการมองกันว่า มีความเป็นไปได้ที่การเมืองขั้วเก่า ทั้ง พรรคพลังประชารัฐ-พรรคภูมิใจไทย-พรรคประชาธิปัตย์ จะกลับมาเป็นแกนหลักในการจัดตั้งรัฐบาลกันอีกครั้ง ในสัดส่วนแต้มที่ ส.ส.ที่ใกล้เคียงจำนวนเดิม และยังมี 250 ส.ว.คอยเป็นกองหนุนนั่งร้านอำนาจตามสูตรเดิม ซึ่งพรรคที่มีออร่าทางการเมืองที่สุดในนาทีนี้คือ พรรคภูมิใจไทย ที่มี ส.ส.ไหลเข้าพรรคอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การคุมเสียง ส.ส.ในพรรคที่ไม่เคยมีอาการแตกแถวให้เห็น สะท้อนภาพลักษณ์ของพรรคที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากกว่าอีก 2 พรรคที่เหลือ จนเรียกได้ว่าเป็นพรรคการเมืองที่น่าจับตามองในการเลือกตั้งใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้น

ท่ามกลางบริบทการเมืองที่กำลังคุกรุ่นปัจจัยร้อนทางการเมืองที่เติมฟืน-โหมแรงไฟอย่างต่อเนื่อง ทำเอาเส้นทางอำนาจของรัฐบาลหลังจากนี้ไม่ต่างกับการ “ลุยไฟ” เพื่อไปถึงฝั่งฝัน ที่อาจจะถูกไฟคลอกได้ทุกเมื่อ!.