เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม.และโฆษกพรรค พท. กล่าวว่า รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม แก้ไขปัญหาความยากจนมาตลอดระยะเวลา 8 ปี เหตุใดยิ่งแก้ยิ่งจน บัตรคนจนเพิ่มขึ้นจาก 10 ล้านคน ทะยานสู่ 20 ล้านคนแล้วในปีนี้ นอกจากนี้ช่วงปลายปี 63 ยังได้ตั้งคณะกรรมการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (คจพ.) อยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จึงอดสงสัยไม่ได้ว่าแผนแก้จนของพล.อ.ประยุทธ์ ที่ประกาศจะเริ่มดำเนินการในเดือน ก.ย.65 จะสำเร็จหรือไม่

พรรค พท. เล็งเห็นว่า หากจะแก้ปัญหานี้ได้ ต้องยึดหลักเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ขยายโอกาส พุ่งเป้าไปที่คนไทย 2 กลุ่ม คือ เกษตรกร และประชาชนคนหาเช้ากินค่ำ เริ่มที่ 1.กลุ่มเกษตรกร พรรคพท.ยึดหลักพลิกวิกฤติเป็นโอกาสรดน้ำที่ราก โดยต้องส่งเสริมการเลี้ยงปศุสัตว์ที่มีตลาดอาหารส่งออกใหญ่มหาศาล เช่น เนื้อวัว ควาย ที่ตลาดทั้งในและต่างประเทศต้องการ อีกทั้งเป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมของเกษตรกรทั่วทุกภาคอยู่แล้ว ดังนั้นจึงควรเพิ่มทางเลือกให้เกษตรกรเพื่อสร้างรายได้เพิ่มเติมบนผืนดินเดิม โดยพลิกเปลี่ยนจากวิถีเดิมๆ ตามความเคยชิน เช่น บนผืนดินที่เคยปลูกข้าวปีละ 2-3 รอบ เปลี่ยนเป็นปลูกข้าวโพดหลังนา หรือถั่วหลังนา เพื่อเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกรเพิ่มขึ้น ชดเชยการนำเข้าจากต่างประเทศ รวมปีละเกือบ 10 ล้านตัน และราคาปุ๋ยกำลังพุ่งสูงกว่า 3 เท่า เนื่องจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทั้งหมดจะเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกรในการเพิ่มรายได้

2.กลุ่มประชาชน ราคาน้ำมันที่เป็นต้นเหตุต่อค่าครองชีพสูง เพราะต้นทุนค่าขนส่งเกี่ยวข้องกับการผลิตและการดำรงชีวิตทั้งหมด ขณะนี้ราคาน้ำมันดิบยังพุ่งทะยานไม่หยุด ส่วนโครงสร้างราคาน้ำมันบิดเบี้ยว มีทั้งน้ำมันดิบ ค่าการกลั่นที่เพิ่มขึ้น จากในช่วงเดือนม.ค.65 อยู่ที่ 1.35 บาท/ลิตร พุ่งขึ้นมาอยู่ที่ 5.82 บาท/ลิตร ในเดือนพ.ค. ตามที่สหพันธ์ขนส่งทางบกได้เคยให้ข้อมูล นอกจากนี้ยังมีภาษีสรรพสามิต ภาษี VAT และเงินเข้ากองทุน ดังนั้นในภาวะนี้รัฐต้องหามาตรการแก้ไขเร่งด่วน โดยต้องทบทวนโครงสร้างราคาน้ำมันและลดค่าการกลั่น เพื่อลดภาระค่าพลังงานโดยเร็ว

“เมื่อเกษตรกรมีรายได้เพิ่ม จะมีเงินใช้จ่ายทันที เพราะโดยหลักเศรษฐศาสตร์แล้ว รายได้เกษตรกรที่เพิ่มขึ้น จะหมุนสร้างรายได้ของผู้ขายและผู้ผลิตสินค้า เพิ่มมูลค่ารวม 3 รอบหรือ 3 เท่า รัฐจะสามารถเก็บภาษีเพิ่มขึ้น รายได้รัฐจะเพิ่มขึ้นโดยที่ไม่ต้องกู้มากมายเหมือนที่ พล.อ.ประยุทธ์กำลังทำ ถ้ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ทำไม่ได้ พรรค พท.จะทำให้ดู” น.ส.ธีรรัตน์ กล่าว

ทางด้าน นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรค พท. ฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เปิดเผยว่า การประชุม กมธ.งบฯ ได้พิจารณาสัปดาห์แรกจบไปแล้ว ซึ่งเป็นในส่วนของภาพรวมเศรษฐกิจและกระทรวงการคลัง รวมถึงธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ สิ่งที่พบเจอ ล้วนแต่น่าหนักใจ หนี้บนพรมพรึบ หนี้ใต้พรมเพียบ นอกจากหนี้สาธารณะ 4.4 ล้านล้านบาท ที่ถูกสร้างใหม่ขึ้นใน 8 ปี ยังเจอกับหนี้ที่ไม่ถูกบันทึกเป็นหนี้สาธารณะจากมาตรการกึ่งการคลังอีกราว 1 ล้านล้านบาท และพุ่งแรงต่อเนื่องจากมาตรการด้านการเกษตรของรัฐบาล เป็นรายจ่ายก้อนโตทุกๆ ปี ที่ต้องตั้งงบประมาณจ่ายไปยัง ธ.ก.ส. เป็นส่วนใหญ่ ที่สำคัญแทบไม่มีข้อมูลเลยว่ารัฐบาลใช้อะไรไปบ้าง ยอดคงค้างเท่าไหร่ ชำระเป็นอย่างไร กมธ.จากพรรค พท.ได้เรียกขอเอกสารไปทั้งหมดต้องติดตามกันดูต่อ

นอกจากนี้ค่าดอกเบี้ยพุ่ง การใช้หนี้สาธารณะในส่วนของสบน.ปีนี้เป็นดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมสูงถึง 192,126 ล้านบาท เกือบ 3 เท่าของการชำระเงินต้น ภาษีประชาชนถูกนำไปใช้หนี้แต่ไปจมอยู่ที่ค่าดอกเบี้ย ยังไม่รวมค่าดอกเบี้ยจากหนี้ใต้พรมอีก นี่คือต้นทุนอันมหาศาลของการกู้เงินและการสร้างหนี้สาธารณะไปเรื่อยๆ ซึ่งในระยะหลังๆ เป็นการกู้ที่ไม่สร้างรายได้ให้กับประเทศ อีกทั้งประเมินเศรษฐกิจฝันหวาน ภาพที่เห็นที่ห้อง กมธ.งบฯนั้น หน่วยงานที่ชี้แจงเสนอภาพที่เต็มด้วยความหวัง ในขณะที่ฝั่ง กมธ.กลับเห็นภาพที่น่าเป็นห่วง เหมือนอยู่กันคนละประเทศ ต้องเจอทั้งเรื่องเงินเฟ้อ ผลจากการต่อสู้เงินเฟ้อของ FED ต้นทุนการผลิตพุ่ง รวมถึงผลกระทบหากไทยต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย การคาดการณ์ GDP สำหรับปี 66 (ซึ่งใช้ทำงบ) ที่ 3.7% ยังคงตัวเลขเดิมตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา แม้จะมีปัจจัยลบใหม่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นายเผ่าภูมิ กล่าวด้วยว่า การจัดเก็บพลาด ปีงบฯ 65 กรมสรรพาสามิตเก็บภาษีพลาดเป้าทุกเดือนติดต่อกัน ต่ำกว่าเป้าถึง 26,501 ล้านบาท และภาษีสำหรับการระดมทุนทั้งในตลาดหุ้นและตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล มีแนวโน้มเดินหน้าต่อ ทั้งสองภาษีนี้ทำลายตลาดการระดมทุนของประเทศ ในขณะที่ภาษีที่ควรเก็บ เช่น ภาษีมรดก กลับไม่คืบหน้า ย่ำอยู่กับที่ราว 200 กว่าล้าน รวมทั้งธนาคารรัฐ วางบทบาทผิด ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐบางแห่งมุ่งสร้างกำไร มุ่งลด NPL เพิ่ม BIS แต่พันธกิจหลักในการเข้าทำในสิ่งที่ธนาคารพาณิชย์ไม่อยากทำ เข้าเสี่ยงในสิ่งที่ธนาคารพาณิชย์ไม่อยากเสี่ยง กลับไม่ได้ทำ SME bank ที่มีหน้าที่เข้าช่วย SMEs ในช่วงวิกฤตโดยตรง กลับมี NPL ที่ลดลง ที่น่าตกใจสินเชื่อปล่อยใหม่ตั้งแต่ต้นปี 65 แทบไม่มี NPL เลย อีกทั้งเงินให้กู้ยืมต่อรายกลับเพิ่มขึ้น ซึ่งตรงข้ามกับพันธกิจที่ต้องยอมเสี่ยงเพื่อช่วย SMEs ทั้งนี้ การคลังชนเพดาน การเงินโดนกดดัน ด้านการคลัง งบฉบับนี้ผ่านการเค้นทั้งการประมาณการรายได้ที่สูงเกินจริง จากการคาดการณ์ที่ GDP ที่สูงเกินจริง ซ้ำยังตั้งขาดดุลเกือบเต็มเพดานเพื่อทำให้มีเงินมาใช้จ่าย จนเรียกได้ว่าการคลังชนเพดาน ส่วนนโยบายการเงินก็ถูกกดดันจากปัจจัยต่างประเทศให้ในที่สูงอาจต้องฝืนขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ทั้งๆ ที่ประเทศไม่มีความพร้อมเลย.