เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. จากกรณีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิดนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ จากพรรคภูมิใจไทย นายสุนทร วิลาวัลย์ บิดาในฐานะนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ปราจีนบุรี และเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องรวมกัน 10 คน ถูกกล่าวหาว่าสนับสนุนเจ้าหน้าที่รัฐออกโฉนดที่ดินบุกรุกป่าเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่พื้นที่ จ.ปราจีนบุรี นั้น โดย ป.ป.ช.ระบุว่า ในส่วนของคดีการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบ สำหรับการออกโฉนดที่ดินในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่นั้น คดีความจะหมดอายุในวันจันทร์ที่ 13 มิ.ย.นี้ ซึ่งการบุกรุกออกโฉนดเกิดขึ้นเมื่อปี 45 แต่เพิ่งมีการแจ้งความดำเนินคดีและป.ป.ช.เพิ่งรับเป็นคดีเมื่อปี 63 โดยนายสุนทรยังไม่ได้ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ-อัยการเพื่อมอบตัว ทำให้หลายฝ่ายเป็นห่วงว่าจะไม่สามารถเอาผิดนายสุนทรได้นั้น

เจ้าหน้าที่ระดับสูงในกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องคดีอาญา อาจเป็นการตีความโดยนับจากวันออกโฉนด หรือตามโทษในทางอาญา นับจากวันที่เจตนาทำความผิด หรือ เริ่มต้นจากการกระทำความผิด ซึ่งตามมาตรา 95 ของ ป.วิอาญา ระบุว่า ถ้ามิได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำผิดมายังศาลภายในกำหนดดังต่อไปนี้ นับแต่วันกระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ เช่น (1) 20 ปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุก 20 ปี (2) 15 ปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่า 7 ปี แต่ยังไม่ถึง 20 ปี เป็นต้น ซึ่งต้องดูว่าเจ้าหน้าที่ที่ดิน และคนข้างเคียงที่เป็นพยานในที่เกิดเหตุทุกคนร่วมกันทุจริตพร้อมกันหรือไม่

อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติที่ผ่านมา จากการดำเนินคดีการทำกระทำความผิดเกี่ยวกับกฎหมายป่าไม้ ในเรื่องการบุกรุกพื้นที่ป่าซึ่งทางกรมอุทยานฯ และกรมป่าไม้ ได้ดำเนินการจับกุมดำเนินคดีมาเป็นนับพันคดี ทั้งกรณีการบุกรุกใหญ่ๆ เช่น พื้นที่อุทยานฯ ทับลาน จ.ปราจีนบุรี-นครราชสีมา การบุกรุกออกโฉนดในพื้นที่อุทยานฯ สิรินาถ จ.ภูเก็ต หรือแม้กระทั่งกรณีการบุกรุกพื้นที่ป่าของ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ จ.ราชบุรี ที่ต้องหลุดจากตำแหน่ง ส.ส. ก็ครอบครองพื้นที่มายาวนานตั้งแต่รุ่นบิดา ซึ่งไม่ได้นับจากวันที่เข้ายึดถือครอบครองพื้นที่ คดีความเริ่มนับจากวันที่เจ้าหน้าที่พบเห็นการกระทำความผิด ซึ่งอาจจะแจ้งความในวันดังกล่าวหรือแจ้งความในภายหลังก็ตาม

“ทั้งนี้การกระทำความผิดในเรื่องการบุกรุกออกโฉนด เป็นการกระทำความผิดที่ซ่อนเร้น เจ้าหน้าที่อาจไม่ทราบเหตุมาก่อน จึงจะไปนับวันที่ออกโฉนดไม่ได้ หลายกรณียึดถือครอบครองออกโฉนดมากว่า 30 ปี เจ้าหน้าที่ป่าไม้ไม่ทราบเหตุ เมื่อพบเห็นการบุกรุกพื้นที่อุทยานฯก็จับกุมดำเนินคดี และนับอายุความกันตอนนั้น อย่างกรณี น.ส.ปารีณาที่ครอบครองมาตั้งแต่รุ่นพ่อ ทำไมไม่ขาดอายุความ และ น.ส.ปารีณาหลุดจากตำแหน่ง ส.ส.ได้ ซึ่งตีความและนับอายุความเช่นนี้โทษติดคุกของนายสุนทรอาจจะหมดไป หากไม่สามารถนำตัวมาส่งฟ้องได้ทันวันที่ 13 มิ.ย.65 แต่ความผิดในทางแพ่งและการเอาพื้นที่ป่าคืนยังมีอยู่ เพราะพื้นที่ของรัฐ ไม่มีการครอบครองปรปักษ์ สามารถยึดคืนพื้นที่ได้ตลอดเวลา” เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ระบุ