เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. นายไพศาล พืชมงคล นักกฎหมาย ได้โพสต์ข้อความระบุว่า ด่านวิบากการสืบทอดอำนาจ!!

นายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับไหนก็เป็นได้แค่ 8 ปี

1.รัฐธรรมนูญ มาตรา 158 บัญญัติว่า นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปีไม่ได้ ไม่ว่าจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ ดังนั้น ใครมาเป็นนายกรัฐมนตรีก็จะดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปี ไม่ได้ ไม่ว่าจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับใดใช้บังคับ และไม่ว่าจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่!!!

2.ยกตัวอย่าง

ถ้านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี ก็จะเป็นนายกรัฐมนตรี ได้ราว 4 ปี เพราะเคยเป็นนายกรัฐมนตรี มาแล้วตามรัฐธรรมนูญ 2550 ราว 3 ปี

ถ้านายชวน หลีกภัย ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี ก็จะเป็นนายกรัฐมนตรี ได้เพียงปีเศษ เพราะเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญฉบับอื่น ๆ มาแล้วร่วม 6 ปีเศษ

ถ้านายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี ก็เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ราว 7 ปี เพราะเคยดำรงตำแหน่งมาแล้วร่วมปี

3.พลเอกประยุทธ์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ครั้งแรกในปี 2557 และดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต่อเนื่องตามรัฐธรรมนูญ 2560 จึงครบกำหนด 8 ปี ในเดือนสิงหาคมนี้

4.เดิมทีมีคนวางแผนให้ตีความว่าการนับเวลา 8 ปี สำหรับพลเอกประยุทธ์ ให้นับตั้งแต่หลังเลือกตั้ง 2562 ซึ่งจะครบปี 2570 แต่เป็นไปไม่ได้ เพราะดำรงตำแหน่งมาก่อน จึงต้องนับการดำรงตำแหน่งก่อนหน้านั้นเข้าในระยะเวลา 8 ปีด้วย ซึ่งจะครบในเดือนสิงหาคม 2565 นั่นเอง

จากนั้นนักไสยศาสตร์ทางกฎหมาย ก็มีความคิดวิปริตจะให้แบ่งเวลาการดำรงตำแหน่ง ก่อนนี้ออกเป็น 2 ช่วง คือ

ช่วงปี 2557 ถึงวันที่รัฐธรรมนูญใช้บังคับ คือปี 2560 และ ช่วงที่ 2 จากปี 2560 และจะตีความว่า ไม่นับช่วงเวลาการดำรงตำแหน่งช่วงแรก ซึ่งเป็นการตีความที่วิปริต เพราะการดำรงตำแหน่งช่วงแรกก็เป็นการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเหมือนกัน  และมาตรา 264 ก็ยังย้ำไว้อีกว่า การดำรงตำแหน่งก่อนหน้านี้ คือตั้งแต่ปี 2557 ก็เป็นการดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญนี้เหมือนกัน จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะแบ่งเวลาของการดำรงตำแหน่งออกเป็น 2 ระยะ

5.ข้ออ้างที่จะแบ่งการดำรงตำแหน่งสมัยแรกออกเป็น 2 ช่วงเวลาคือจะอาศัยกฎหมายอาญา มาตรา 2 ที่ว่า จะนำกฎหมายที่มีโทษทางอาญามาใช้บังคับย้อนหลังไม่ได้นั้น ก็ยิ่งวิปริตผิดรัฐธรรมนูญกันไปใหญ่ เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติว่ากฎหมายใดขัด หรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ กฎหมายนั้นย่อมใช้บังคับไม่ได้ เมื่อรัฐธรรมนูญบัญญัติให้ดำรงตำแหน่งนายกได้ไม่เกิน 8 ปี ก็ต้องเป็นไปตามนั้น จะเอาหลักกฎหมายอาญามาตรา 2 มาลบล้างรัฐธรรมนูญไม่ได้!!

และอีกประการหนึ่ง หลักกฎหมายอาญามาตรา 2 นี้ ก็เป็นเรื่องของ “โทษทางอาญา” เท่านั้น ไม่เกี่ยวกับการนับระยะเวลา เพราะโทษทางอาญามีเพียง 5 สถาน คือ ประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ ริบทรัพย์สิน ซึ่งการนับระยะเวลานั้นไม่ใช่โทษทางอาญา จะมั่วเอาไปใช้ไม่ได้ เพราะไม่ใช่หลักกฎหมายอาญา แต่อย่างใด

ดังนั้น ในสายตาแห่งกฎหมาย และหลักกฎหมายที่บัญญัติชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษร และยังย้ำไว้โดยบันทึกเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 158 ที่ไม่ต้องการให้นายกรัฐมนตรี ดำรงตำแหน่งนานเกิน 8 ปี เพราะเป็น “ต้นเหตุวิกฤติทางการเมือง”

ก็ยิ่งชัดเจนว่า ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นั้น ใครจะดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปีไม่ได้ ไม่ว่าจะเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในช่วงที่รัฐธรรมนูญฉบับใดใช้บังคับก็ตาม เมื่อเป็นนายกรัฐมนตรี แล้วก็อยู่ในบังคับมาตรา 158 ทั้งสิ้น

6. สำหรับปัญหาทางการเมือง ถ้ายอมรับเรื่องนี้ก็ไม่จำเป็นจะต้องมีการตีความรัฐธรรมนูญ ให้ถูกเย้ยหยัน หรือก่อวิกฤติทางการเมืองเพิ่มเติมขึ้นมา ก็เพียงแค่ประกาศว่าวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จะสิ้นสุดลงในเดือนสิงหาคม 2565 ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 รัฐสภาก็จะเลือกนายกรัฐมนตรี สืบต่อไป หรือถ้าไม่ให้เกิดปัญหาเด็ดขาดก็แถลงลาออกในช่วงก่อน หรือครบกำหนด 8 ปี ก็จะลงจากหลังเสือโดยปลอดภัย

นายกรัฐมนตรีใหม่ก็ทำหน้าที่ไปอีกร่วมปี ก็จะไม่เป็นปัญหาแก่ทุกฝ่าย ทั้งจะเป็นการลงจากหลังเสืออย่างสง่างาม และอาจเข้าดำรงตำแหน่งที่เย็นกว่า ตัดไฟร้อนทางการเมืองอย่างถาวรก็ได้

นี่แหละที่ท่านว่า “ขุนพลที่ปรีชาสามารถจริงนั้น ให้ดูจากการถอย เพราะการรุกนั้น แม้พลทหารก็สั่งได้”