เมื่อเวลา 17.30 น. วันที่ 16 มิ.ย. นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภายหลังการหารือร่วมกับนายกรัฐมนตรี และทีมเศรษฐกิจรัฐบาล เพื่อออกมาตรการลดค่าครองชีพ และช่วยเหลือราคาน้ำมันแพง ที่ทำเนียบรัฐบาล นานกว่า 1 ชั่วโมง ว่า ที่ประชุมเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือหลายมาตรการ และจะเสนอให้ ครม.เห็นชอบสัปดาห์หน้า

โดยมาตรการใหม่ ได้แก่ ขอความร่วมมือผู้ค้าน้ำมันคงค่าการตลาดอยู่ที่ 1.4 บาทต่อลิตร รวมทั้งขอความร่วมมือโรงกลั่นน้ำมันให้นำส่งกำไรส่วนต่างที่เกิดจากการกลั่นน้ำมันเดือนละประมาณ 6,000-7,000 ล้านบาท ส่งเข้าเป็นรายได้ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ ก.ค.-ก.ย.65 รวมเป็นเงินกว่า 20,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับกองทุนฯ และส่วนหนึ่งนำมาลดราคาหน้าปั๊มให้กับผู้ใช้น้ำมันเบนซินได้ลิตรละ 1 บาท

ขณะเดียวกันกระทรวงพลังงาน ได้ขอความร่วมมือโรงแยกก๊าซที่มีต้นทุนแอลพีจี ที่จำหน่ายเป็นวัตถุดิบในภาคปิโตรเคมี ซึ่งมีกำไรส่วนเกิน ซึ่งจะดึงเงินกำไรส่วนเกินออกมา 50% เพื่อส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง คาดว่าจะได้เงินเข้ากองทุนฯ อีกเดือนละ 1,500 ล้านบาท รวมแล้วจะมีเงินไหลเข้ากองทุนฯเดือนละกว่า 8,000 ล้านบาท

นอกจากนี้กระทรวงการคลัง ยังเสนอมาตรการทางด้านภาษีกระตุ้นการท่องเที่ยวในช่วงที่เหลือของปี นอกจากการต่อโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 4 คือ การสนับสนุนให้บริษัทต่าง ๆ หากพาพนักงานเดินทางท่องเที่ยวเมืองหลัก สามารถหักภาษีได้ 1.5 เท่า หากไปเที่ยวเมืองรอง สามารถหักภาษีได้ 2 เท่า รวมถึงการจัดงานในต่างจังหวัดก็นำค่าใช้จ่ายมาหักภาษีได้ด้วย โดยมาตรการนี้จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 5 ก.ค.-31 ธ.ค.65

ส่วนมาตรการช่วยเหลือลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ซึ่งที่ผ่านมา มีการลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม มาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 นั้น จะไม่ได้ทำต่อเพราะกระทบต่อภาระของกองทุนประกันสังคม และปัจจุบันก็กำลังมีการเจรจาเรื่องค่าแรงขั้นต่ำอยู่ด้วย มาตรการนี้จึงสิ้นสุดอายุ.