เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดกล่าวถึงการดำเนินคดีนายสันติ (สงวนนามสกุล) อายุ 35 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ข้อหา “ฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา” จากคดีฆ่า 2 สามีภรรยาและลูกในท้อง ที่ไต้หวัน ที่หลบหนีมาประเทศไทย และเข้ามอบตัวเมื่อช่วงเช้าวันนี้ว่า

เรื่องนี้ถ้าทางฝ่ายผู้เสียหายได้แก่พ่อแม่ญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิตทั้งสอง ขอให้ดำเนินคดีในไทย ก็จะสามารถดำเนินคดีกับนายสันติในประเทศไทยได้ เป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 8 บัญญัติไว้ว่า ความผิดที่เกิดนอกราชอาณาจักร ถ้าเป็นความผิดเกี่ยวกับชีวิต หรือฆ่าคนตาย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 และผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดเป็นคนไทย ก็สามารถดำเนินคดีในประเทศไทยหรือศาลไทย และรับโทษในประเทศไทยได้ตามหลักการ

ส่วนการดำเนินการตามมาตรา 8 จะต้องมีการสอบสวน ซึ่งกระบวนการสอบสวนก็จะต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 20 ที่บัญญัติไว้ว่าความผิดนอกราชอาณาจักรอำนาจสอบสวนเป็นของอัยการสูงสุด ซึ่งอัยการสูงสุดสามารถมอบหมายให้พนักงานสอบสวนดำเนินการต่อไปหรือให้พนักงานสอบสวนร่วมกับอัยการสำนักงานการสอบสวนได้

แต่คดีนี้เกิดเหตุที่ประเทศไต้หวัน พยานหลักฐานแทบทั้งหมดจึงอยู่ที่ประเทศไต้หวัน กระบวนการรวบรวมพยานหลักฐานจากประเทศต้นทาง เพื่อเข้ามาในสำนวนการสอบสวน ถ้าหากจำเป็นต้องดำเนินการในส่วนนี้ทางสำนักงานอัยการสูงสุด มีสำนักงานอัยการต่างประเทศที่มีนายจุมพล พันธุ์สัมฤทธิ์ เป็นอธิบดีอัยการ สำนักงานต่างประเทศ เป็นผู้ประสานความร่วมมือกับทางการไต้หวัน แต่เนื่องจากไทยกับไต้หวัน ไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน เนื่องจากไต้หวันเองก็มีปัญหาละเอียดอ่อนที่มีประเด็นกับประเทศจีนอยู่

การประสานความร่วมมือระหว่างเรากับไต้หวันในเรื่องทำนองนี้จะผ่าน สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย ซึ่งประเทศไทยเองก็มีสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทยประจำไต้หวัน คอยประสานงานกันที่ผ่านมาการขอความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับไต้หวัน ก็ผ่านหน่วยงานดังกล่าวกันอยู่เป็นประจำ ในเรื่องนี้จึงไม่น่ามีปัญหา

ซึ่งเมื่อมีการสอบสวนเสร็จแล้วสำนวนก็จะถูกส่งไปยังอัยการสูงสุดมีความเห็น และหากมีคำสั่งฟ้อง ก็จะมอบให้อัยการสำนักงานคดีอาญาเป็นผู้ยื่นฟ้องคดีที่ศาลอาญาต่อไป

เมื่อถามว่าหากทางการไต้หวันประสงค์จะขอตัวนายสันติกลับไป

นายประยุทธ กล่าวว่า โดยหลักถ้าทางไต้หวันขอตัวส่งกลับไปก็จะเข้าสู่กระบวนการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งเมื่อเราไม่มีสนธิสัญญา ก็ต้องไปใช้วิธีทางการทูตเรื่องถ้อยทีถ้อยอาศัยผ่านสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเปที่กล่าวมาข้างต้น แต่เรื่องนี้ตนเข้าใจว่าเป็นอำนาจของศาลไทย ผู้เสียหายเป็นคนไทยและผู้ถูกกล่าวหาก็เป็นคนไทย คงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องส่งไปดำเนินคดีที่ไต้หวัน เพราะสามารถดำเนินคดีในประเทศไทยได้ ตามที่ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 8 บัญญัติไว้

“คดีนี้ไม่ส่งผู้ร้ายข้ามแดน เพราะมีกฎหมายดำเนินคดีในไทยได้อยู่แล้ว คนถูกดำเนินคดีก็คนไทย ป.อาญามาตรา 8 เขียนไว้ชัดเจนให้พิจารณาในศาลไทยและอำนาจสอบสวนเป็นของอัยการสูงสุด และกระบวนการประสานงานต่อพยานหลักฐานสำนักงานอัยการต่างประเทศของประเทศไทยสามารถทำได้หมด” รองโฆษกอัยการ กล่าวย้ำ