เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สภากาชาดไทย ตั้งข้อสังเกตกรณีใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 คุมกัญชาช่วงสุญญากาศ ระหว่างรอ พ.ร.บ.กัญชาฯ บังคับใช้ว่า ตนได้รับข้อมูลมูลมาจากนักกฎหมาย ว่า พ.ร.บ.นี้ มีหน้าที่พิทักษ์รักษาสมุนไพรไทยไม่ให้มีใครเอาไปใช้ หรือส่งออก ซึ่งพอไปอ่านดูแล้วจะมีอยู่มาตราหนึ่ง (มาตรา 46) บอกว่า ห้ามไปวิจัย ห้ามแปรรูป ห้ามขายเพื่อการค้า แต่ไม่ได้เอามาควบคุมแง่พิษของสมุนไพรนั้น ๆ ดังนั้นหากมีการขายโดยไม่ได้รับอนุมัติจะได้หรือไม่ ตรงนี้เป็นความเห็นของนักกฎหมาย ส่วนตัวคิดว่าเป็นการใช้กฎหมายผิดวัตถุประสงค์หรือไม่ ซึ่งถือว่าผิดมากเพราะกฎหมายไม่ได้มีการบังคับเรื่องโทษ ดังนั้นถ้าใครขาย หรือแปรรูปกัญชาอาจถือว่าผิดต้องไปสอบถามทางกระทรวงสาธารณสุขว่าเป็นอย่างไรกันแน่ ต้องระวัง ไม่เช่นนั้นอาจจะเข้าใจผิดกันได้

เมื่อถามถึงคำแนะนำเรื่องการใช้กัญชาในประเทศไทยในตอนนี้ รศ.นพ.ฉันชาย กล่าวว่า การใช้กัญชาในประเทศไทยตอนนี้ต้องตั้งเป้าให้ชัดว่าห้ามเด็กเข้าถึงใช้ให้เหมาะสม เน้นการแพทย์ ใช้ในปริมาณที่เหมาะสม เมื่อเราตั้งโจทย์แล้วจะมีทางออก แต่หากมีการฟันธงแล้วเราจะพยายามเลี่ยง แล้วเอากฎหมายเข้ามาช่วย แต่ถ้าเลือกกฎหมายผิดมันยิ่งมั่วไปใหญ่ ดังนั้นต้องกลับมาสู่จุดเดิมว่า เราต้องการเห็นอะไร เราต้องการแก้ไขปัญหาที่ไม่ได้คิดมาก่อน แล้วพยายามใช้วิธีการต่างๆ เพื่อมาแก้ปัญหา แต่กลับยิ่งทำให้เกิดความสับสนมากขึ้นในขณะนี้

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงการกำกับควบคุมการบริโภคอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา ผ่านบริการส่งถึงที่ หรือดิลิเวอรี่ ไม่ว่าจะเป็นการสั่งผ่านโทรศัพท์ หรือ แอพพลิเคชั่น ไม่สามารถแยกกลุ่มอายุของผู้รับบริการได้นั้น ยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นความท้าทาย ผู้ประกอบการ และผู้รับบริการต้องระวัง เพราะกฎหมายกำหนดให้มีผู้รับผิดชอบ หากมีผู้ที่ได้รับความเสียหาย กรณีทางร้านไม่มีการแจ้งเมนูที่มีส่วนผสม หรือบอกคำเตือน แล้วเกิดอันตราย สามารถเอาผิดกับทางร้านได้ตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข ส่วนเรื่องการเฝ้าระวังในโรงเรียนก็คล้ายกับมาตรการเหล้า บุหรี่รอบสถานศึกษา

สำหรับประเด็นกดน้ำดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชานั้น ตู้กดน้ำดื่ม แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1.ตู้กดเครื่องดื่มแบบหยอดเหรียญอัตโนมัติ ประเภทแบบผลิตภัณฑ์บรรจุ ถูกกำกับและควบคุมโดย พ.ร.บ.อาหาร อยู่ในการกำกับควบคุมของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) 2. ตู้กดเครื่องดื่มแบบหยอดเหรียญอัตโนมัติ ที่มีลักษณะทำงานแบบการปรุง มีการผสมผงเครื่องดื่มในตู้พร้อมจำหน่าย กำกับดูแล โดย พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ต้องมีการขออนุญาตและแสดงสัญลักษณ์ เครื่องดื่ม หรือ เมนูไหนมีการผสมของกัญชา

น.ส.กชนุช แสงแถลง ผอ.มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ขณะนี้ มีการนำกัญชาไปผสมในอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง ได้รับความนิยมมาก และปรากฏว่า กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูงได้รับผลกระทบจากการบริโภคอาหารผสมใบกัญชา ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มีความกังวลถึงผลกระทบ หรือความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้น จึงสร้างแคมเปญรณรงค์ให้ ธุรกิจอาหาร อาทิ ร้านอาหาร เจ้าขอผลิตภัณฑ์ ติดฉลากหรือแขวนป้ายหน้าร้านบอกให้ผู้บริโภคทราบว่า อาหารที่ผลิตไม่มีกัญชาเป็นส่วนประกอบ ตรงนี้จะทางเลือกและเป็นประโยชน์กับผู้บริโภค โดยเฉพาะ “กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูง” โดยผู้บริโภคทุกท่านสามารถเข้าไปร่วมแสดงความคิดเห็นกับแคมเปญนี้ได้ที่ https://ffcthailand.org/campaign/5 นอกจากนี้ ผู้ประกอบการสามารถดาวน์โหลดโปสเตอร์ “ร้านนี้ไม่มีกัญชา” ไปใช้ได้เลย และทุกร้านต้องติดให้ชัดเพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคตัดสินใจ.