ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “การปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 13-15 มิ.ย. 65 จากประชาชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0

จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดประเภทที่ 5 ทำให้การปลูก เสพ สูบ บริโภคสามารถทำได้ถูกกฎหมาย พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 34.81 ระบุว่า เห็นด้วยมาก เพราะกัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจ สร้างรายได้ และเป็นพืชสมุนไพรที่สามารถใช้เป็นยารักษาโรคได้ รองลงมา ร้อยละ 24.89 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย เพราะกัญชาเป็นสิ่งที่ไม่ดีต่อเด็กและเยาวชนเป็นสารเสพติดชนิดหนึ่ง ขณะที่บางส่วนระบุว่า ประชาชนยังไม่มีความรู้เรื่องกัญชามากพอ และภาครัฐไม่สามารถควบคุมการใช้กัญชาได้อย่างทั่วถึง ร้อยละ 23.74 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย เพราะกัญชาเป็นพืชที่มีประโยชน์มากกว่าให้โทษ สามารถใช้เป็นยารักษาโรคได้ และร้อยละ 16.56 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะ อาจเกิดการเสพติดกัญชา ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ขณะที่บางส่วนระบุว่า ประชาชนอาจนำไปใช้ในทางที่ผิด

ด้านความกังวลของประชาชนต่อปัญหาการใช้กัญชาอย่างไม่เหมาะสมในหมู่เด็กและเยาวชน พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 42.44 ระบุว่า กังวลมาก รองลงมา ร้อยละ 29.62 ระบุว่า ค่อนข้างกังวล ร้อยละ 16.95 ระบุว่า ไม่กังวลเลย และร้อยละ 10.99 ระบุว่า ไม่ค่อยกังวล สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อรูปแบบการใช้กัญชาของคนไทยในอนาคต พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 34.05 ระบุว่า ใช้ทางการแพทย์ รองลงมา ร้อยละ 31.15 ระบุว่า ใช้เพื่อการสันทนาการ เช่น การสูบ หรือเสพ ร้อยละ 22.21 ระบุว่า ใช้ในการประกอบอาหารหรือเครื่องดื่ม และร้อยละ 12.59 ระบุว่า ใช้เพื่อแปรรูปผลิตภัณฑ์ในเชิงพาณิชย์

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงประสบการณ์เกี่ยวกับกัญชาของประชาชน พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 67.02 ระบุว่า ไม่เคยมีประสบการณ์ใดๆ เกี่ยวกับกัญชา ขณะที่ ร้อยละ 32.98 ระบุว่า เคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับกัญชา (จำนวน 432 หน่วยตัวอย่าง) โดยในจำนวนนี้ ตัวอย่าง ร้อยละ 60.65 เคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับกัญชาในเรื่องการใช้กัญชาเพื่อประกอบอาหารหรือเครื่องดื่ม รองลงมา ร้อยละ 30.56 ระบุว่า การเสพหรือสูบกัญชา ร้อยละ 21.06 ระบุว่า การใช้กัญชาเพื่อรักษาโรค ร้อยละ 6.94 ระบุว่า การปลูกกัญชา ร้อยละ 1.39 ระบุว่า การแปรรูปผลิตภัณฑ์กัญชาในเชิงพาณิชย์ และร้อยละ 0.23 ระบุว่า การค้ากัญชา