แม้การเริ่มต้นทำธุรกิจจะไม่ใช่สิ่งไกลเกินเอื้อม แต่การทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้นั้น ก็ไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนจะทำได้เช่นกัน ซึ่งแค่ความตั้งใจกับการวางแผนงานที่ดี ก็อาจจะไม่เพียงพอ แต่การเรียนรู้เพื่อปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลงก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญ ที่วันนี้คอลัมน์นี้มีเรื่องนี้นำมาฝากกัน โดยเป็นข้อมูลจากหนังสือชื่อ “The Founder II” ที่จัดทำโดย NIA หรือ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ส่วนจะมีรายละเอียดน่าสนใจเช่นไรนั้น ต้องลองมาติดตามกันดู…

Hand picking among metal paperclips one red, different from the others, isolated on white background. Stand out from the crowd concept, high angle

ทั้งนี้ ในหนังสือชื่อ The Founder II ได้มีการถอดรหัสจากเจ้าของธุรกิจสาขาต่าง ๆ ที่ประสบความสำเร็จ โดยได้นำบทเรียนการเผชิญหน้ากับวิกฤติต่าง ๆ รวมไปถึง “ความท้าทาย” ที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญในโลกของธุรกิจนำมาถ่ายทอด เพื่อให้ผู้ประกอบการสาขาต่าง ๆ ได้ใช้เป็นแนวทางและเป็นกรณีศึกษา โดยพบว่าผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จมักจะต้องเผชิญกับ “8 ความท้าทาย” ดังนี้ ได้แก่ การคิดใหม่และสร้างความแตกต่าง ที่ถือเป็นโจทย์สำคัญของผู้ประกอบการทุกคนที่ต้องทำเพื่อที่จะสร้างความโดดเด่นให้กับแบรนด์หรือสินค้า เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า, การสร้างโซลูชั่นที่ตอบสนองกับ Pain Point ของผู้บริโภค ที่ผู้ประกอบการทุกคน จำเป็นต้องรู้เร็วและขยับเร็ว เพื่อคว้าโอกาสการสร้างทางเลือกที่ดีกว่าให้กลุ่มเป้าหมาย, การมองกำไรเป็นเป้าหมายสูงสุด ที่เป็นความท้าทายสำคัญอีกหนึ่งประการของทุก ๆ ธุรกิจ ซึ่งบางครั้งการมองที่ผลกำไรมากเกินไป อาจทำให้ธุรกิจขาดเวลาในการพัฒนาหรือยกระดับผลิตภัณฑ์ของตัวเอง จนทำให้แบรนด์หรือผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นไม่ดึงดูดใจกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่, การเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร โดยเฉพาะวิธีคิด ระบบการทำงาน ที่หากยังยึดติดกับกรอบเดิมๆ ก็อาจจะทำให้ไม่สามารถก้าวทันโลก หรือคู่แข่งที่เปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วกว่า, การเปลี่ยนความเชื่อ โดยผู้ประกอบการไทยบางรายมักจะมองไม่เห็นศักยภาพของตนเอง จนทำให้ไม่กล้ายกระดับตัวเอง เพื่อไปแข่งขันในระดับสากล ทั้งที่มีศักยภาพเพียงพอ, การเข้าใจผิดถึงความหมายของนวัตกรรม ที่หลายคนมักนึกถึงแค่ความทันสมัย หรือเทคโนโลยีขั้นสูง จึงไม่มั่นใจที่จะสร้างสรรค์ หรือสร้างความแปลกใหม่ให้ธุรกิจ, การแข่งขันผิดตลาด ที่ถือเป็นการลดโอกาสในการประสบความสำเร็จ ดังนั้นผู้ประกอบการจึงต้องมีการวิเคราะห์ตลาดและความสามารถของตนเองว่า การแข่งขันในตลาดนั้นอยู่ในขอบเขตความเชี่ยวชาญที่ตนเองสามารถแข่งขันได้หรือไม่ สุดท้ายคือ การวิเคราะห์ความเสี่ยง ที่ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อที่จะได้เตรียมแผนสำรอง หรือแนวทางป้องกันไว้ล่วงหน้า หากเกิดปัญหาหรือการเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลัน และนี่เป็น “บทเรียนน่ารู้” ของเอสเอ็มอีสาขาต่าง ๆ ที่ได้มีการ “ถอดรหัส” จากผู้ประกอบการตัวจริง ซึ่งสามารถใช้เป็นข้อมูลเพื่อศึกษา หรือนำไปปรับใช้เป็นแนวทางทำธุรกิจได้. ศิริโรจน์ ศิริแพทย์ [email protected]