เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. ที่พรรคกล้า นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า และอดีต รมว.คลัง แถลงถึงการเสนอแนวทางแก้ปัญหาราคาน้ำมันแพง ว่า หลังจากพรรคกล้าเคยแถลงถึงมาตรการของรัฐบาลที่ไม่ทำให้ราคาหน้าปั๊มลดลง แต่ราคาน้ำมันช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังขึ้นอยู่ ซึ่งวิธีหนึ่งที่จะทำให้ราคาน้ำมันลดได้ทันที คือการใช้อำนาจตามมาตรา 24 และ 25 (2) แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยสินค้าและการบริการ พ.ศ.2542 โดยคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ที่มี รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน สามารถใช้อำนาจกำหนดอัตรากำไรของสินค้าควบคุมได้

ทั้งนี้ ก๊าซปิโตรเลียมเหลวและน้ำมันเชื้อเพลิง ถือเป็นสินค้าควบคุมตามบัญชีของคณะกรรมการ และเมื่อเทียบค่าการกลั่นเฉลี่ย 3 เดือนแรกของปีนี้ อยู่ที่ 1.91 บาทต่อลิตร ซึ่งเป็นราคาที่มีกำไรอยู่แล้ว จนมาเจอกับสถานการณ์สงครามในประเทศยูเครน ซึ่งทำให้ราคาค่าการกลั่นน้ำมันสูงขึ้นเรื่อยๆ บางวัน 8.56 บาทต่อลิตร แต่โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 5.80-6 บาทต่อลิตร และเมื่อเอาค่าการกลั่นช่วงแรกกับช่วงหลังมาหักลบกัน ราคาจะลดลงได้ทันที 4 บาทต่อลิตร ซึ่งน่าจะเป็นราคาที่เหมาะสม และโรงกลั่นได้กำไร จึงขอให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.พาณิชย์ ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยสินค้าและการบริการ

นายกรณ์ กล่าวอีกว่า สำหรับที่มาของค่าการกลั่นน้ำมัน 8.5 บาทต่อลิตรนั้น ตัวเลขนี้เป็นข้อมูลสาธารณะ เป็นข้อมูลจากเว็บไซต์ของบริษัท ไทยออยล์ และจากเว็บไซต์กระทรวงพลังงาน รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนจากธนาคารแห่งประเทศไทย ตนขอย้ำว่าเป็นข้อมูลที่เชื่อถือได้ ซึ่งแน่นอนว่าค่าการกลั่น 8.5 บาทต่อลิตร เป็นตัวเลขที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย แต่เป็นตัวเลขจริงที่อ้างอิงเมื่อวันที่ 10 มิ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อส่งสัญญาณว่าค่าการกลั่นเริ่มสูงเรื่อยๆ แต่ที่มีการอ้างว่าค่าการกลั่นเฉลี่ย 3 บาทต่อลิตร เป็นตัวเลขเฉลี่ยช่วง 5 เดือนแรกนั้น มันเป็นอดีตไปแล้ว และการนำค่าเฉลี่ยในอดีตมาอ้างไม่สามารถใช้แก้ปัญหาได้ เพราะวันนี้ค่าการกลั่นขึ้นสูงขึ้นต่อเนื่อง

ส่วนกรณีที่กระทรวงพลังงานจะเก็บเงินจากธุรกิจโรงกลั่นเดือนละ 8,000 ล้านบาท เป็นเวลา 3 เดือน เพื่อเสริมสภาพคล่องกองทุนน้ำมันนั้น การเก็บเงินลักษณะนี้เป็นรูปแบบเดียวกับภาษีลาภลอย แต่สิ่งที่รัฐบาลดำเนินการเป็นสัญญาปากเปล่า ไม่รู้ว่าจำนวนเงินที่เก็บเป็นตัวเลขที่มากหรือน้อยเกินไป อีกทั้งไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย และสถานการณ์น้ำมันแพงอาจยาวมากกว่า 3 เดือน ตนจึงคิดว่า แนวทางที่เหมาะสมที่สุดคือการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ซึ่งเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และมีผลผูกพันทางกฎหมาย รวมถึงสอดคล้องหลักความโปร่งใสและธรรมาภิบาล.