จากกรณี ปัญหาเจ้าของบริษัท แฟรนไชน์ร้านอาหารญี่ปุ่นชื่อดัง “ดารุม ซูชิ” ได้ติดค้างค่าวัตถุดิบของสดต่าง ๆ จากบริษัทนำเข้าส่งออกอาหารสดเป็นเงิน 30 กว่าล้านบาท ก่อนจะลอยแพผู้ซื้อแฟรนไชน์โดยไม่ยอมนำวัตถุดิบส่งให้ทางร้าน ทั้งยังดีดตัวเองออกจากไลน์กลุ่มผู้บริหารร้าน ก่อนหายเงียบไม่สามารถติดต่อได้ ผลที่ตามมาก็คือ การบริหารจัดการร้านอาหารต้องหยุดชะงัก ก่อนจะปิดตัวลงเพราะไม่สามารถค้าขายได้ตามปกติอีกต่อไป ลูกจ้างที่ทำงานในร้านก็ไม่ได้รับเงินเดือน รวมไปถึงลูกค้าที่ซื้อคูปอง หรือ เวาเชอร์ เพื่อใช้เป็นส่วนลดในการเข้าไปจองทานอาหารในร้านแต่ละสาขา ก็ไม่สามารถใช้การได้ บุคคลหลายกลุ่มต่างได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่ ตามที่ปรากฏเป็นข่าวไปแล้วนั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. นายรัชพล ศิริสาคร ทนายความชื่อดัง ได้พาผู้เสียหายที่ซื้อคูปองจากร้านอาหารญี่ปุ่น เข้าร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน บก.ปคบ.แล้ว โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ซื้อคูปองจากแอพฯของร้านในจำนวนมาก เพื่อนำไปขายต่ออีกทอดหนึ่ง และมีผู้ซื้อรายย่อยที่ตั้งใจจะไปใช้บริการเองด้วย

โดย น.ส.ซี (นามสมมุติ) เปิดเผยว่า ตนเป็นลูกค้าประจำของร้านอาหารญี่ปุ่น ทำให้สนใจเคมเปญของทางร้านที่โฆษณาอยู่ตามโซเชี่ยลมีเดีย จึงทยอยซื้อคูปองไว้กว่า 600 ใบ ในราคาใบละ212.93 บาท เพื่อขายต่อ 240 บาท ช่วงแรกไม่มีปัญหาอะไร เพราะลูกค้าที่ซื้อไปแล้วก็กลับมาซื้อซ้ำ จนกระทั่งเกิดปัญหาขึ้นทำให้ตนต้องติดต่อไปหาลูกค้าเพื่อคืนเงินให้ทั้งหมด ก่อนรวมตัวกับผู้เสียหายรายอื่นเข้ามาแจ้งความ

ด้าน นายอัญพัชร์ ปิยะสถิตย์โชติ ผู้​จัดการร้าน สาขาคริสตัลปาร์ค กล่าวว่า เหตุที่ต้องมาแจ้งความวันนี้ เนื่องจากพนักงานก็ได้รับผลกระทบจากการปิดร้าน ต้องตกงาน โดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า จึงต้องมาแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน อีกทั้งต้องการให้เจ้าของแฟรนไชส์ ออกมาให้คำตอบที่ชัดเจนกับพนักงานและลูกค้าที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด โดยเฉพาะ​พนักงานตอนนี้ ลำบากมาก ไม่รู้ชะตากรรมว่าอนาคตจะเป็นอย่างไรต่อไป โดยในวันพรุ่งนี้กลุ่มพนักงานจะเดินทางไปสำนักงานประกันสังคมเพื่อขอรับความช่วยเหลือ​

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาการบริหารด้านการเงินทั้งหมด เช่น รายได้ รายรับ รายจ่าย เจ้าของแฟรนไชส์​จะเป็นผู้ดำเนินการแต่เพียงผู้เดียว ผู้จัดการสาขาทุกคน มีหน้าที่เพียงรับพนักงานและตกลงอัตราค่าจ้าง และสรุปรายละเอียดค่าแรงของพนักงานในแต่ละเดือนเท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมาการจ่ายเงินเดือนไม่มีปัญหา​ ประกอบกับการเดินทาง​ไปต่างประเทศ​ ของเจ้าของแฟรนไชส์​ก็เป็นเรื่องปกติที่จะเดินทางไปทุกๆ 2-3 เดือน แต่มาผิดสังเกตุก่อนเกิดเรื่องเพียง 2-3 วัน เท่านั้น เมื่อตนพบว่าไม่มีการสั่งสินค้าที่ต้องใช้ภายในร้านเข้ามาเติมแต่อย่างใด และมีการลบตนเองออกจากกลุ่มไลน์ทุกกลุ่มและไม่สามารถติดต่อ

ขณะที่ นายรัชพล กล่าวว่า ได้รวบรวมผู้เสียหายบางส่วนมาแจ้งความกับ พนักงานสอบสวน บก.ปคบ. เพื่อเอาผิดเจ้าของแฟรนไชส์ ซึ่งเชื่อว่าน่าจะมีผู้ร่วมขบวนการที่เกี่ยวข้องด้วย โดยจะดำเนินคดีข้อหา ฉ้อโกงประชาชน, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และ พ.ร.บ.ฟอกเงิน อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่า บริษัทเจ้าของแฟรนไชส์ไม่มีสัญญาจ้างลูกจ้าง และไม่มีสำนักงานของบริษัท ซึ่งจากที่รวบรวมเบื้องต้น มีผู้เสียหายกว่า 400 คน มูลค่าความเสียหายเกือบ 100 ล้านบาท จึงอยากให้ตำรวจเร่งตรวจสอบว่าเจ้าของแฟรนไชส์ยังอยู่ในประเทศหรือไม่ และอยากให้ทาง บก.ปคบ. เป็นเจ้าภาพรับทำคดีนี้

ด้าน พ.ต.อ.เชษฐ์พันธ์ กิติเจริญศักดิ์ ผกก.1 บก.ปคบ. กล่าวว่า หากมีผู้เสียหายรายอื่นเพิ่มเติม ขอให้มาแจ้งความกับ บก.ปคบ.โดยตำรวจจะรวบรวมผู้เสียหายมาสอบปากคำ ซึ่งคาดว่าสามารถนำเนื้อหามารวมมาเป็นสำนวนเดียวกันได้ ตำรวจพร้อมให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย สำหรับการกระทำดังกล่าวจะเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่หรือไม่นั้น ยังไม่ยืนยัน อย่างไรก็ตาม ได้รับข้อมูลจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง(สตม.) ว่าเจ้าของแฟรนไชส์ได้เดินทางออกนอกประเทศไปแล้ว แต่ไม่สามารถยืนยันได้ว่าปลายทางเป็นนครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรท ตามที่มีกระแสข่าวออกมาหรือไม่

รายงานข่าวแจ้งว่า จากการตรวจสอบพบว่าผู้บริหารของดารุมะ ได้เดินทางออกนอกประเทศไปตั้งแต่วันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมา ก่อนมีการโพสต์ถึงการถูกลอยแพคูปองบุฟเฟ่ต์ในวันถัดมา ทั้งนี้ คาดว่าประเทศปลายทางจะอยู่ในเขตตะวันออกกลาง จากนี้หากตรวจสอบพบความผิดจริง ตำรวจ บก.ปคบ.จะรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อขอศาลออกหมายจับในข้อหาฉ้อโกงประชาชน และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการติดตามตัวมาดำเนินคดีต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า คดีนี้มีผู้เสียหายหลายราย และยังเกิดความเสียหายกับหลายฝ่าย ทำให้ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. ลงมานั่งสอบปากคำผู้เสียหายนี้ด้วยตนเอง.