ที่พรรคเพื่อไทย เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 21 มิ.ย. นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองประธานยุทธศาสตร์ ด้านเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม ส.ส.เชียงใหม่ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย และนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด กรรมการยุทธศาสตร์และการเมือง เปิดแถลงประจำสัปดาห์เกี่ยวกับปัญหาทางด้านเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยนายพิชัยกล่าวว่า หนี้สาธารณะของไทยพุ่งทะลุ 10 ล้านล้านบาทแล้ว และราคาก๊าซหุงต้มจะขึ้นเป็น 408 บาท สำหรับถัง 15 กก. ในเดือน ก.ย.นี้ ขึ้นจากราคาเดิมต้นปีที่ 318 บาท ถึง 28% ทั้งที่ประเทศไทยสามารถขุดก๊าซได้เอง และเดือน ก.ย.65 ค่าไฟฟ้าก็จะขึ้นอีกอย่างน้อย หน่วยละ 40 สตางค์ หลังจากเพิ่งขึ้นราคาเป็นหน่วยละ 4 บาท เมื่อไม่นานนี้ จะทำให้อัตราเงินเฟ้อของไทยเพิ่มมากขึ้น โดยล่าสุดธนาคารกลางสหรัฐ ขึ้นดอกเบี้ย 0.75% สูงสุดในรอบ 28 ปี และน่าจะขึ้นอีก 0.75% ในเดือนหน้า เป็นไปตามที่คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยเตือนถึงปัญหาดอกเบี้ยขาขึ้นไว้นานแล้ว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยแน่ จึงอยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และธนาคารแห่งประเทศไทยได้จับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพื่อประคองเศรษฐกิจไทยในภาวะผันผวน โดยคาดกันว่าธนาคารกลางสหรัฐอาจขึ้นดอกเบี้ยอีก 1.75% ภายในปีนี้ ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจไทยที่กำลังย่ำแย่ การขึ้นดอกเบี้ยก็หนัก และการไม่ขึ้นดอกเบี้ยจะยิ่งหนัก ทั้งนี้เป็นผลมาจากความล้มเหลวในการบริหารเศรษฐกิจตลอดหลายปีที่ผ่านมา

โดยล่าสุด International Institute for Management Development (IMD) สวิตเซอร์แลนด์ ได้จัดอันดับความสามารถแข่งขันของไทยลดลงถึง 5 อันดับ จากอันดับที่ 28 ลงไป อันดับที่ 33 จากการสำรวจ 63 เขตเศรษฐกิจ ถือว่าทรุดลงหนักมาก โดยอันดับผลประกอบการทางเศรษฐกิจลดลงถึง 13 อันดับ อันดับประสิทธิภาพทางธุรกิจลดลงถึง 9 อันดับ และอันดับประสิทธิภาพของรัฐบาลลดลงถึง 11 อันดับ แม้กระทั่งอันดับ โครงสร้างพื้นฐานของไทยที่แต่เดิมอยู่ในระดับที่ต่ำอยู่แล้วก็ยังลดลง แสดงถึงความล้มเหลวในการบริหารเศรษฐกิจที่วัดโดย IMD ที่เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ พล.อ.ประยุทธ์ เคยชื่นชมตอน IMD ปรับขึ้นแต่ตอนนี้ IMD ปรับลดลงหนักเลย ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องหาทางแก้ไขปัญหาความสามารถแข่งขันที่ลดลงนี้ ที่ทำให้ตรงข้ามกับที่แถลงนโยบายไว้ในสภา

ทั้งนี้จากการสำรวจของ World Economic Forum (WEF) ที่ประเมินปัญหาความสามารถแข่งขันของประเทศไทยพบว่า ปัญหาหลักที่ความสามารถแข่งขันของประเทศไทยลดลงมากจาก 6 เรื่องสำคัญ และทางแก้ไขดังนี้

  1. ความไม่มั่นคงของรัฐบาลและการปฏิวัติรัฐประหาร ซึ่งเป็นปัญหามาตลอด โดยการปฏิวัติครั้งหลังสุดคือเมื่อ 8 ปีที่แล้ว และผู้ทำการปฏิรูปยังคงปกครองประเทศอยู่เลย ทำให้ความมั่นใจและความเชื่อถือไม่มีเหลือ นอกจากนี้ความรู้ความสามารถของผู้ทำการปฏิวัติแล้วมาบริหารเองมีน้อยมาก ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นแล้วในปัจจุบัน แม้บริหารติดต่อกันมา 8 ปีแต่ประเทศกลับทรุดลง ไม่ได้ดีขึ้น ดังนั้นในอนาคตจะต้องไม่มีการปฏิวัติรัฐประหารกันอึกต่อไปแล้ว
  2. ระบบราชการที่ขาดประสิทธิภาพ ซึ่งปัญหานี้มีมาตลอด การแก้ไขคือต้องแก้ไขระบบราชการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและการเปลี่ยนระบบรายกชการเป็นระบบดิจิทัล (Digital Transformation)
  3. นโยบายไม่มั่นคง ทั้งนี้อาจจะเกิดมาจากการเปลี่ยนรัฐบาลและการปฏิวัติ ทั้งนี้ยังมีนโยบายที่ถูกยกเลิกหรือทำให้ช้าไปและเปลี่ยนไปเช่น การทำรถไฟความเร็วสูง การทำระบบจัดการน้ำ การแจกแท็บเล็ตให้นักเรียน อีกทั้งยังมีการยกเลิกเหมืองทอง และยังมีการให้ที่ดินสำรวจเพื่อทำเหมืองทองเป็นหลายแสนไร่เพื่อหวังกลบคดีใช่หรือไม่ เป็นต้น
  4. ขาดความสามารถเพียงพอในการคิดค้นพัฒนา ซึ่งเป็นปัญหาของประเทศไทยมาตลอด การปิดกั้นการแสดงออกทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ ทำให้ความคิดสร้างสรรค์ถูกปิดกั้นไปด้วย อีกทั้งประเทศไทยมีงบประมาณการวิจัยและคนคว้าต่ำ นอกจากนี้นักศึกษาของไทยจบทางด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมในสัดส่วนที่น้อยมาก ดังนั้นจึงต้องแก้ไขในเรื่องเหล่านี้
  5. การทุจริตคอรัปชั่น ซึ่งเป็นเหมือนโรคร้ายกัดกินประเทศไทยมาโดยตลอด การจัดลำดับความโปร่งใส หรือ การทุจริตของไทย โดยองค์กรความโปร่งใสสากล (Transparency International) ที่เป็นองค์กรระหว่างประเทศ จัดลำดับการทุจริตของประเทศไทยต่ำลงมาตลอด 5 ปีติดต่อกัน จากอันดับที่ 96 ในปี 60 มาเป็นอันดับที่ 110 ในปี 64
  6. แรงงานที่มีการศึกษาไม่เพียงพอ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่ระบบการศึกษาไทยไม่ตรงกับความต้องการของงานในโลกปัจจุบัน ซึ่งจะต้องปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ

นี่เป็น 6 ปัญหาที่วนเวียนในประเทศไทยมาตลอด 8 ปีแล้วแต่ไม่เคยได้รับการแก้ไขให้ถูกต้อง และปัญหาจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เหมือนที่ พล.อ.ประยุทธ์ เปรียบเทียบตัวเองเป็นคอมพิวเตอร์ที่แฮงค์เพราะปัญหามาก ทั้งที่ความจริงเปรียบเหมือนเป็นคอมพิวเตอร์ที่ตกรุ่นแล้ว ไม่สามารถที่จะทำการคำนวณและแก้ไขปัญหาสมัยใหม่ได้แล้ว ปัจจุบันเข้าสู่ยุคควอนตัมแล้ว คอมพิวเตอร์ตกรุ่นก็คล้ายกับเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์แล้ว ขนาดจะทิ้งยังมีคนรังเกียจเลย จึงอยากบอก พล.อ.ประยุทธ์ ได้เปรียบเทียบคอมพิวเตอร์ชื่อประยุทธ์กับคอมพิวเตอร์ที่ชื่อชัชชาติ หรือ คอมพิวเตอร์เพื่อไทยที่มองเห็นปัญหาล่วงหน้าและหาทางรับมือและแก้ไข ซึ่งคนไทยจะเห็นประสิทธิภาพที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน ซึ่งจะเป็นคำตอบว่าทำไมคอมพิวเตอร์ประยุทธ์ถึงแฮงก์และตกรุ่นแล้ว ต้องรู้ตัวเองและต้องออกไปเพื่อเปลี่ยนเป็นคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ได้แล้ว

ทางด้าน นายจักรพล กล่าวว่า สำหรับการท่องเที่ยวในประเทศไทยนั้นเรียกได้ว่า “รอดตายอย่างหวุดหวิด” เพราะการท่องเที่ยวไทยที่กำลังฟื้นตัว อีกทั้งข่าวลือของการมาเยือนของนักท่องเที่ยวจากจีนแผ่นดินใหญ่ ทำให้การท่องเที่ยวไทยกลับมามีโอกาสและเหมือนมีแสงสว่างขึ้นอีกครั้ง อย่างไรก็ตามผลงานของรัฐบาลในอดีต เกี่ยวกับการท่องเที่ยวไทยกลับไม่ได้ช่วยภาคการท่องเที่ยวอย่างแท้จริง เป็นเพียงละครที่เล่นเพื่อตบตาประชาชน และการผลาญงบประมาณอย่างสิ้นเปลือง เป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวที่ไร้ประสิทธิภาพ เน้นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุมากกว่าการแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืน

ในช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมามาตรการของภาครัฐทำให้ผู้ประกอบกิจการทัวร์ต่างๆ ในประเทศไทย ต้องปิดตัวเป็นจำนวนมาก จากเดิมที่มีมากกว่า 10,000 บริษัท ปัจจุบันน่าจะเหลือไม่ถึง 7,000 บริษัท ตัวอย่างเช่น “โครงการไทยเที่ยวไทย” หรือ “โครงการเราเที่ยวด้วยกัน” ที่มองภายนอกอาจจะดูดีแต่กลายเป็นว่าเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวนั้นแทบจะไม่ตกถึงผู้ประกอบการรายย่อย และ SME ต่างๆ เลย เป็นลักษณะมือใครยาวสาวได้สาวเอา เพราะโครงการดังกล่าวนักท่องเที่ยวสามารถติดต่อกับผู้ประกอบการรายใหญ่ได้โดยตรง แม้จะมีคูปองเพื่อใช้เป็นส่วนลดในการท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นผู้ประกอบการรายย่อยในพื้นที่ แต่ระบบที่เข้าถึงยากทำให้นักท่องเที่ยวเลือกที่จะใช้บริการผู้ประกอบการรายใหญ่ที่เข้าถึงได้มากกว่า

อีกทั้งกำแพงเงินกู้ที่สูงเกินไป ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายไม่สามารถเข้าถึงเงินทุนดังกล่าวได้ โดยเฉพาะการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) แต่จากคำสัมภาษณ์ของผู้ช่วยประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและผู้เกี่ยวข้องท่านอื่น พบว่า “ไม่มีบริษัททัวร์ใดสามารถเข้าถึง เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ แม้แต่บริษัทเดียว” นั่นเป็นเพราะภายใต้ “มาตรการอันเข้มงวด” ของ ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ต้องมีการยื่นหลักฐานมากมาย ในที่สุดผู้ประกอบการหลายรายก็หมดลมหายใจจากการท่องเที่ยวไทยและสร้างความสิ้นหวังให้กับคนไทยเป็นอย่างมาก

ดังนั้นเพื่อให้การท่องเที่ยวไทยเดินต่อไปได้ รัฐบาลควรฟังคำแนะนำของภาคเอกชน เช่น ขยายเวลาการเปิดให้การบริการของเศรษฐกิจภาคกลางคืน ยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่าทุกชนิดในช่วง 6 เดือนหลังทั้ง Tourist Visa และ Visa on Arrival เป็นต้น

ทั้งนี้ทางพรรคเพื่อไทยขอเสนอ “4 เส้นทาง…สู่ความยั่งยืนของการท่องเที่ยวไทย” ดังนี้ เส้นทางที่ 1 ถนนแห่งโอกาส เนื่องจากประเทศไทยเพิ่งมีการเปิดประเทศ เพื่อรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นคือ “สถานะทางการเงินของผู้ประกอบการ” รัฐควรออกมาตรการหรือนโยบายเพื่อลดต้นทุนของผู้ประกอบการทั้งต้นทุนการผลิต ต้นทุนการบริการ รวมถึงภาษีต่างๆ ที่จะสร้างผลกระทบต่อผลประกอบการที่จะเกิดขึ้น เน้นการสร้างจุดขายแบบ A-Z และการท่องเที่ยวเทรนด์ใหม่นี้ต้องสู้ด้วย “สงครามคุณภาพ” หลีกเลี่ยง “สงครามราคา” ดังนั้นการช่วยเหลือผู้ประกอบการด้วยการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสำหรับการพัฒนาคุณภาพการบริการและผลผลิตอื่นๆเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง รัฐฯห้ามมองข้ามสิ่งนี้อย่างเด็ดขาด!

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการต้องเจอกับคลื่นน้ำลูกใหญ่คือ “เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1%” และยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีก โดยเฉพาะสินค้าจำพวกไฟฟ้า เชื้อเพลิงและน้ำประปาที่ปรับตัวสูงถึง 32.56% รองลงมาคือ ยานพาหนะน้ำมันเชื้อเพลิง เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.43% ซึ่งจากการศึกษาและวิเคราะห์ความสามารถของรัฐบาลแล้วพบว่า รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเหมาะสมอย่างแน่นอน

เส้นทางที่ 2 ถนนแห่งส่งออก Soft power เพื่อไทยเน้นมาตลอดในเรื่องของ Soft power ผ่านการดึงศักยภาพคนไทยสร้าง Soft power 1 คน ต่อ 1 ครอบครัว เพื่อนำมาพัฒนาศักยภาพทั้งระดับท้องถิ่น เพราะเทรนด์โลกสมัยใหม่คือการต่อสู้ด้วยอำนาจวัฒนธรรม Soft power นอกจากนี้พลังดังกล่าวต้องนำมาปรับใช้ในระดับประเทศเพื่อส่งออก Soft power ไทยสู่สายตาคนทั่วโลก สร้างการตลาดใหม่โดยเน้นขายความจริงและคุณภาพของการท่องเที่ยวไทย ทั้งอาการการกิน ธรรมชาติ ผลงานของศิลปิน วัฒนธรรมและอื่นๆอีกมากมาย เน้นใช้ของที่มีอยู่ให้ยั่งยืนและเกิดประโยชน์สูงสุด

เส้นทางที่ 3 ถนนแห่งทรัพยากร ประเทศไทยมีทรัพยากรหลากหลายให้เลือกใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและคน ไม่ว่าจะเป็น (1) ทรัพยากรธรรมชาติ โดยมุ่งเน้นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ลดการใช้พลังงาน กิจกรรมทดแทนการปล่อยมลพิษ เป็นต้น (2) ทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะการศึกษาที่จะปูทางไปสู่การสร้างอาชีพในอนาคต ซึ่งการบริการการท่องเที่ยวก็เป็น 1 ในสนามรบทางเศรษฐกิจที่เป็นที่นิยมอย่างแน่นอน (3) ทรัพยากรวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม นอกจากเรื่องการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์แล้วยังจำเป็นต้องมีเรื่องของงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และเตรียมพร้อมให้คนไทยเข้าสู่ยุค Metaverse โลกเสมือนจริง จะนำโลกที่เป็นจริงหรือสกุลเงินดิจิทัล รวมถึง Games และ E-Sports พัฒนาทักษะเยาวชน และพร้อมใช้ Soft power เพื่อสร้างมูลค่าสินทรัพย์ดิจิทัลซึ่งมีมูลค่ามหาศาล

โดยทรัพยากรทั้งหมดนี้จำเป็นต้องมีรัฐบาลที่ต้องคอยสนับสนุนและผลักดันเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนในอนาคตและคนรุ่นหลัง โดยเน้นหลักความยั่งยืนในการบริหารจัดการ

เส้นทางที่ 4 New Hope’s road นอกจากประเทศไทยต้องเตรียมพร้อมสำหรับเทรนด์การท่องเที่ยวแบบใหม่ ไม่ว่าจะเป็น Medical & Beauty tourism, Medical & Wellness tourism, Green tourism แล้ว จำเป็นต้องเตรียมพร้อมสำหรับการท่องเที่ยวแบบแปลกใหม่ที่สร้างประสบการณ์ที่ดีต่อนักท่องเที่ยว รวมถึงการท่องเที่ยวตามแนวระเบียงเศรษฐกิจต่างๆ ผ่านยกระดับระเบียงเศรษฐกิจของไทยทั้ง 5 แห่ง, พัฒนาเส้นทางการคมนาคมใน GMS Economic Corridors และแนวเศรษฐกิจอื่นๆ ผ่านการใช้งบประมาณที่คุ้มค้า ซึ่งนำไปสู่รายได้ในพื้นที่ขั้นต่ำ 23 ล้านล้านบาท

เส้นทางทั้ง 4 เส้นนี้พรรคเพื่อไทยเชื่อว่าจะสร้างเส้นทางสู่ความยั่งยืนของการท่องเที่ยวไทยได้อย่างแท้จริง อยากให้รัฐบาลลองรับฟังและนำไปปรับใช้เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน แต่หากยังไม่ทำก็รอให้พรรคเพื่อไทยซึ่งจะเป็นรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาทำแทนก็ได้ เพราะประชาชนต้องการมืออาชีพมาดูแลคุณภาพชีวิต ต้องการมืออาชีพมาวางรากฐานสำหรับลูกหลานในอนาคต และต้องการมืออาชีพมาบริหารประเทศและแก้ไขความผิดพลาดของรัฐบาลก่อนหน้าที่สร้างหลุมดำให้กับประชาชนอย่างมากมาย

ขณะที่ นายอนุสรณ์ กล่าวถึงสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทยในยุค 8 ปี พล.อ.ประยุทธ์ ว่า ถ้าวิกฤติเศรษฐกิจยุครัฐบาล คสช.ถือว่าเป็นเผาหลอก วิกฤติเศรษฐกิจยุครัฐบาลสืบทอดอำนาจ พล.อ.ประยุทธ์ อาจเป็นเผาจริง หลังการยึดอำนาจทำรัฐประหาร พล.อ.ประยุทธ์ ชูสโลแกนในช่วงเลือกตั้ง 62 ว่า เลือกความสงบจบที่ลุงตู่ ผ่านมาเกือบครบเทอม กลายเป็นวิกฤติเศรษฐกิจแบบ ฟื้นไม่มี หนีไม่พ้น จากเงียบสงบ กลายเป็นเงียบสงัด วังเวง สูญสิ้นความหวัง ไม่เห็นทางรอด พล.อ.ประยุทธ์ เป็นหัวหน้ารัฐบาลมา 8 ปี ผ่านงบฯ ไป 12 ครั้ง ใช้เงินไป 28.5 ล้านล้านบาท แต่เศรษฐกิจทรุด ทุจริตฟู หนี้สาธารณะไทยทะลุ 10 ล้านล้านบาทแล้ว เกิน 60% ของจีดีพี กลายเป็นรัฐบาลที่มีผลงานนิวโลว์ตกต่ำลงแทบทุกด้าน แต่อาจสร้างความเสียหายทำสถิตินิวไฮ ปัญหาเงินเฟ้อ วิกฤติราคาน้ำมันแพง ค่าแรงถูก คนจนเพิ่ม คนตกงานล้น ทำประเทศสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จึงเป็น 8 ปี ที่ประชาชนสิ้นสงสัย ไม่มีสภาพ ไม่เหลือความหวังที่รัฐบาลจะมาพลิกฟื้นวิกฤติเศรษฐกิจอะไรได้

“เสียดายที่ พล.อ.ประยุทธ์ รู้สึกช้าไป 8 ปี เพราะเพิ่งเจ็บปวดที่เห็นประชาชนเดือดร้อนจากพิษเศรษฐกิจ เวลาที่เหลืออยู่ถ้าคิดว่าไม่สามารถแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจได้ ควรเปิดทางให้ประชาชนได้เลือกรัฐบาลใหม่เข้ามาแก้ไขปัญหาให้ประชาชนแทน” นายอนุสรณ์ กล่าว