เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 21 มิ.ย. ที่ศูนย์รับแจ้งความกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กรุงเทพฯ นายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ หรือ ทนายรณณรงค์ ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม พา น.ส.เก๋ (นามสมมุติ) อายุ 34 ปี เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อ พ.ต.อ.ฉัตรามนตรี มหาพชราอรุณใหม่ ผกก.กลุ่มงานสอบสวน กก.4บก.ปคม. เพื่อให้ดำเนินคดีกับเจ้าของศูนย์รับเลี้ยงกระตุ้นพัฒนาการเด็ก ใน จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นแพทย์จิตเวช รพ.ชื่อดัง และครูผู้ดูแลรวม 3 คน หลังพบว่าลูกสาววัย 8 ขวบ ซึ่งเป็นเด็กออทิสติก ถูกทารุณกรรมระหว่างการฝากเลี้ยงอยู่ที่ศูนย์ดังกล่าว และคาดว่ามีเด็กรายอื่นที่ถูกทารุณกรรมจากครูพี่เลี้ยงอีกนับ 10 ราย โดยก่อนหน้านี้ได้แจ้งความร้องทุกข์ไว้ที่ สภ.บางแก้ว แต่ถูกผู้มีอิทธิพลเข้ามาแทรกแซงโดยจ่ายเงินให้ผู้ปกครองเด็กผู้เสียหายหลายคนจนยอมไม่เอาเรื่อง

น.ส.เก๋ กล่าวว่า เมื่อเดือน ก.ย.63 ได้นำลูกสาววัย 6 ขวบ ไปฝากเลี้ยงและกระตุ้นพัฒนาการที่ศูนย์ดังกล่าว ซึ่งช่วงแรกไม่พบความผิดปกติ กระทั่งช่วงต้นเดือน ม.ค.64 ที่มีการห้ามเข้าเยี่ยมเนื่องจากสถานการณ์โควิด ทำให้ผู้ปกครองเด็กไม่สามารถเข้าเยี่ยมลูกได้  เพราะยังไม่ได้ฉีดวัคซีนตามที่ทางศูนย์ตั้งกฎไว้ จนวันที่ 27 เม.ย. ที่ผ่านมา ได้ไปรับลูกกลับต่างจังหวัด จึงทราบจากครูของศูนย์ดังกล่าวว่า ลูกสาวมีแผลที่ข้อเท้า เนื่องจากแพ้ถุงทรายถ่วงน้ำหนักที่ลูกสาวต้องใส่เนื่องจากเป็นเด็กเดินเขย่ง แต่เมื่อถึงบ้านได้ตรวจสอบแผลอย่างละเอียดอีกครั้งจนพบว่า ลูกสาวมีแผลที่ข้อเท้าข้างเดียว ทั้งที่ใส่ถุงทรายถ่วงน้ำหนักสองข้าง และเมื่อพาไปอาบน้ำจึงพบร่องรอยบาดแผลตามร่างกายอีกหลายจุด รวมถึงที่ก้นและบริเวณอวัยวะเพศ ลักษณะเป็นแผลติดเชื้อ เมื่อโทรศัพท์กลับไปสอบถามครูผู้ดูแลได้อ้างว่า ไม่เคยเห็นและไม่เคยเปิดดูบริเวณก้นเด็ก พร้อมตั้งข้อสงสัยอาจเกิดจากอาการแพ้ผ้าอ้อมสำเร็จรูป แต่ส่วนตัวคิดว่าลูกสาวดูแลตัวเองไม่ได้ ดังนั้นผู้ดูแลจะต้องเห็นและพยายามรักษา หากไม่ทำเช่นนั้นก็แสดงว่าไม่เคยดูแลความสะอาดให้ลูกสาวเลย และเมื่อพาไปตรวจรักษาที่ รพ. แพทย์ได้สันนิษฐานว่าอาจจะเกิดจากความไม่สะอาดของผ้าอ้อม

น.ส.เก๋ กล่าวอีกว่า หลังเกิดเหตุสังเกตเห็นลูกสาวมีอาการหวาดระแวง ไม่พูด ไม่ส่งเสียง และน้ำหนักลดลง ซึ่งครูอ้างว่าลูกไม่กินข้าว ทั้งที่เป็นเด็กกินเก่ง จึงตัดสินใจพาเข้าแจ้งความดำเนินคดีไว้ที่ สภ.บางแก้ว ทำให้เจ้าของศูนย์ดังกล่าวพยายามติดต่อมาขอไกล่เกลี่ย และชดใช้ค่าเสียหายให้ตามที่เรียกร้อง อีกทั้งยังยอมรับว่าได้ใช้เชือกผ้าผูกล่ามข้อเท้าลูกสาวของตน เนื่องจากอยู่ไม่นิ่งและครูต้องดูแลเด็กคนอื่น แต่ตนไม่ยอมรับเงื่อนไข และยืนยันจะดำเนินคดี เพราะรู้สึกเสียใจกับการกระทำดังกล่าวของผู้ดูแล อีกทั้งค่าใช้จ่ายที่ต้องชำระให้กับทางศูนย์เดือนละ 20,000 บาท ยังไม่รวมค่าผ้าอ้อมและค่ายา ซึ่งหากรวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดน่าจะมากกว่า 300,000 บาท แต่ลูกสาวกลับถูกทารุณกรรมเช่นนี้

ด้านทนายรณณรงค์  กล่าวว่า เบื้องต้นประสงค์ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องในข้อหา ทำร้ายร่างกายโดยการทารุณกรรม และแสวงหากำไรจากเด็ก ซึ่งหลังแม่เด็กแจ้งความ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ตรวจสอบศูนย์ดังกล่าว จนศูนย์สั่งปิดชั่วคราว แต่หลังจากนั้นตำรวจไม่สามารถสอบปากคำผู้ปกครองของเด็กที่เหลือในศูนย์ฯ อีก 10 คนได้  เพราะไม่มีใครติดใจเอาความ จึงเชื่อว่าในศูนย์ดังกล่าวน่าจะมีเด็กถูกทารุณหลายคน และพยายามจ่ายเงินเพื่อปิดปาก