เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. ที่กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า หลังจากที่มีการปลดล็อกพืชกัญชาและกัญชง ออกจากยาเสพติดให้โทษ เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.เป็นต้นมา เรามีการติดตามผลกระทบมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งข้อมูลจาก 3 รพ.ในสังกัดกรมการแพทย์ คือ รพ.นพรัตน์, รพ.เลิดสิน และ รพ.ราชวิถี ระหว่างวันที่ 13-21 มิ.ย.พบผู้ได้รับผลกระทบจากกัญชาเข้ารับการรักษา จำนวน 9 ราย อาการที่พบมากประกอบด้วย 1.ระบบหลอดเลือดและหัวใจ หลอดเลือดสมอง อาการหัวใจเต้นเร็ว ความดันขึ้นลงๆ ชีพจรเต้นไม่เป็นจังหวะ 2.ระบบประสาท อาการวิงเวียน มึน และ 3.พบประปรายในระบบทางเดินอาหาร คลื่นไส้อาเจียน โดยพบทั้งการเสพ การรับประทานอาหารแบบตั้งใจและได้รับโดยไม่รู้ตัว เนื่องจากผู้ประกอบอาหารหวังเพิ่มรสชาติจึงใส่กัญชาเข้าไปทำให้ผู้บริโภคได้รับกัญชาโดยไม่รู้ตัว ทั้งนี้จากประวัติของผู้เข้ารับการรักษา พบว่ารับประทานอาหาร เช่น ส้มตำหน่อไม้ กาแฟผสมกัญชาผง คุกกี้กัญชา เป็นต้น

“ดังนั้นขอให้ประชาชนระมัดระวัง โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่ควรบริโภคเลยคือ เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี หญิงตั้งครรภ์หรือสงสัยว่าตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร ผู้มีที่โรคประจำตัว โดยเฉพาะกลุ่มโรคหลอดเลือดหัวใจและสมองโรคระบบประสาท และผู้ป่วยจิตเวช หรือครอบครัวมีประวัติป่วยจิตเวช ผู้ที่ต้องขับขี่ยานพาหนะทุกประเภท ผู้ที่ต้องทำงานกับเครื่องจักร ที่สำคัญขอให้ร้านค้าพึงระวังและติดป้ายแจ้งลูกค้าถึงส่วนผสมของเมนูกัญชา เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ” นพ.มานัส กล่าว

นพ.มานัส กล่าวว่า หากได้รับกัญชาและมีอาการไม่พึงประสงค์ สามารถสังเกตได้เบื้องต้น คือ การหายใจผิดปกติ ชีพจรผิดปกติหากเริ่มไม่รู้สึกตัว ผู้ใกล้ชิดต้องเรียกรถฉุกเฉินทันที โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวจะต้องระวัง ขอย้ำว่า การพบอาการหลังใช้กัญชา ไม่ว่าจะรูปแบบใด หากมาพบแพทย์แล้วจะต้องให้ข้อมูลที่เป็นจริง ไม่ต้องกังวลเรื่องกฎหมาย เพื่อให้แพทย์รักษาได้ทันท่วงที

เมื่อถามว่า ปัจจุบันมีเคสเข้ารับการบำบัดเสพติดกัญชามากน้อยเท่าใด นพ.มานัส กล่าวว่า มีมาเรื่อยๆ ซึ่งในช่วงโควิดที่มีข้อจำกัดในเข้าถึงสถานพยาบาล จึงพบเคสมากขึ้น ทั้งในกลุ่มที่ใช้สันทนาการและบริโภคในรูปแบบต่างๆ แม้การหยดน้ำมันกัญชาก็เกิดการเสพติดได้ ทางกรมการแพทย์จึงเปิดไลน์บัญชีทางการ (Line OA) ว่า “ห่วงกัญ” เพื่อให้ประชาชนสามารถคัดกรองอาการสงสัยมีภาวะติดกัญชา เบื้องต้นคือมีการใช้กัญชาในปริมาณเพิ่มขึ้น ถี่ขึ้น เริ่มมีอาการอยากยา อาการขาดยา แนะนำให้รีบพบแพทย์เพื่อบำบัดรักษา.