เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. ที่รัฐสภา นายอันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา สภาผู้แทนราษฎร และคณะ รับยื่นหนังสือจากนายสุภัทร ติระชูศักดิ์ ฝ่ายกฎหมายบริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) ขอ กมธ.ช่วย เร่งรัดให้กระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยชี้ขาด ของคณะอนุญาโตตุลาการที่ให้จ่ายค่าชดเชย 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปีให้บริษัท โฮปเวลล์ (ถึงปัจจุบัน จำนวนเงิน พร้อมดอกเบี้ยที่ รฟท.ต้องคืน รวมประมาณ 27,000 ล้านบาท) จากกรณีบอกเลิกสัญญาโครงการทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพมหานคร (Bangkok Elevated Road and Train System-BERTS) แต่กระทรวงคมนาคม และ รฟท. กลับไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ โดยนายอันวาร์ เตรียมนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะ กมธ. ตามขั้นตอนต่อไป

สำหรับหนังสือที่ฝ่ายกฎหมายบริษัทโฮปเวลล์ ยื่นต่อ กมธ.การพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญาฯ มีรายละเอียดชี้แจงความเป็นมา ตั้งแต่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศโทย) จำกัดชนะการประมูลโครงการทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพมหานคร (Bangkok Elevated Road and Train System-BERTS) ตั้งแต่ปี 2533 แต่ประสบกับปัญหาการส่งมอบพื้นที่ และตรวจพิจารณาอนุมัติแบบก่อสร้างล่าช้า กระทั่งกระทรวงคมนาคม และ รฟท. มีหนังสือบอกเลิกสัญญา ลงวันที่ 27 ม.ค. 2541 โดยกล่าวหาว่าบริษัท โฮปเวลล์ฯ ก่อสร้างโครงการล่าช้า

จากนั้นบริษัทโฮปเวลล์ฯ ได้ร้องขอความเป็นธรรมต่อคณะอนุญาโตตุลาการ และคณะอนุญาโตตุลาการ ได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดเมื่อวันที่ 30 ก.ย.2551 ให้กระทรวงคมนาคม และ รฟท. คืนเงิน จำนวน 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย อัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แก่บริษัทโฮปเวลล์ฯ

แต่กระทรวงคมนาคม และ รฟท. ยังไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ด้วยการยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง และศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำพิพากษาเป็นที่สุด เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2562 ให้ กระทรวงคมนาคม และ รฟท. ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ แต่กระทรวงคมนาคม และ รฟท. ได้ใช้กลไกมาตรการทางกฎหมายหลายประการ เพื่อมุ่งหวังลบล้างคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด และคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ

บริษัท โฮปเวลล์ฯ เห็นว่าพฤติกรรมของกระทรวงคมนาคม และ รฟท.อาจเป็นการกระทำมิชอบ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์การค้า การลงทุน และการพัฒนาเศรษฐกิจ ตลอดจนระบบกฎหมาย รวมทั้งกระบวนการยุติธรรมของประเทศ จึงขอให้คณะ กมธ.คณะ ได้พิจารณาตรวจสอบการกระทำของกระทรวงคมนาคม และ รฟท. พร้อมกับเร่งรัดให้กระทรวงคมนาคม และ รฟท. ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยชี้ขาด ของคณะอนุญาโตตุลาการ และคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด เพื่อความโปร่งใส เป็นธรรม และความน่าเชื่อถือของประเทศไทยในสายตาประชาคมโลก.