นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธานว่า เรื่องค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที ) งวดใหม่ (ก.ย.-ธ.ค. 65) ที่จะขยับขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 40 สตางค์ต่อหน่วยนั้น กกพ.ได้แจ้งว่า ได้หารือร่วมกับเอกชนจะมีการปรับขึ้นแบบขั้นบันได เนื่องจากต้องยอมรับว่าต้นทุนค่าไฟฟ้าสูงมาก และก๊าซแอลเอ็นจีซึ่งมีสัดส่วนผลิตไฟฟ้า 35% ผันผวน ขยับสูงมากขณะนี้ขึ้นมาถึงระดับ 36 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู 

โดยรัฐบาลวางแผนไว้แล้วว่า จะช่วยเหลือประชาชนต่อเนื่อง ในส่วนของครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน 20 ล้านหลังคาเรือน จะจ่ายค่าไฟฟ้าเอฟทีเท่ากับค่าเอฟทีในงวดที่ 1 (ม.ค.-เม.ย. 65) ของปีนี้ต่อไป ซึ่งมาตรการเดิมจะสิ้นสุด 31 ส.ค.นี้ ซึ่งรัฐบาลกำลังพิจารณาช่วยเหลือในกลุ่มนี้ต่อไป 

ส่วนเรื่องค่าโรงกลั่นน้ำมัน ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการหารือกับโรงกลั่นทั้ง 6 ราย เพื่อหาอัตราที่เหมาะสม รวมถึงรับฟังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับค่าการกลั่นว่าในน้ำมันแต่ละประเภทมีต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายอยู่ที่เท่าไหร่ เพื่อหาจุดสมดุลในการร่วมมือกันทั้งสองฝ่าย ซึ่งพยายามเร่งให้เกิดข้อสรุปภายในเดือน มิ.ย.นี้

ทั้งนี้ยอมรับว่าทุกฝ่ายมองถึงประเด็นความเดือดร้อนของประชาชนเป็นหลัก และอยู่ในขั้นตอนหารือเพื่อสรุปข้อตกลงกัน แต่หากยังไม่สามารถสรุปได้จึงค่อยเปลี่ยนไปใช้วิธีทางกฎหมายภายใต้ พ.ร.บ.น้ำมันเชื้อเพลิง หรือข้อบังคับอื่น ๆ ต่อไป ซึ่งได้เตรียมการไว้เบื้องต้นแล้ว 

“ในสัปดาห์นี้เรามีการคุยกันอยู่แล้วถึงเรื่องตัวเลขค่าการกลั่นต่าง ๆ ทางกระทรวงพลังงานก็มีผลสรุปออกมาแล้วว่าค่าเฉลี่ยช่วง 6 เดือนอยู่ที่ 3.27 บาทต่อลิตร ซึ่งกรณีที่มีอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังยืนยันตัวเลขออกมาเช่นกันที่ 8.50 บาทต่อลิตรนั้น อาจจะทำให้ประชาขนเข้าใจแตกต่างกัน ซึ่งทางกระทรวงก็ได้ถามไปถึงสมาคมกลุ่มโรงกลั่นฯ ว่าเมื่อเห็นตัวเลขนั้นแล้ว ก็อยากให้ไปวิเคราะห์ดูว่าตัวเลขดังกล่าวเป็นมาอย่างไร มีวิธีวิเคราะห์ที่ถูกต้องอย่างไร และนำมาชี้แจงร่วมกับอดีต รมว.คลัง ด้วย จะได้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันกับประชาชน ไม่อย่างนั้นจะทำให้ความคาดหวังแตกต่างกัน ซึ่งอยากให้มีความชัดเจน ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้ท่านอดีต รมว.คลัง มานั่งคุยกันเลย เพราะเชื่อว่าทุกคนพร้อมที่จะทำความเข้าใจร่วมกัน ซึ่งทั้ง 6 โรงกลั่นก็พร้อมจะพิจารณาแต่ต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อน”