เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์ บริหารสถานการณ์ โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ให้สัมภาษณ์ถึงความชัดเจนกรณี ศบค.ผ่อนคลายมาตรการขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงว่า ตามที่ที่ประชุม ศบค. เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นมาตรการผ่อนคลายด้านเศรษฐกิจ ซึ่งที่ประชุมมีมติให้สถานบริการทั้งหมดเปิดได้ตามกฎหมายปกติ จึงต้องไปดูพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. 2509 กฎกระทรวง ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี, กฎหมาย คสช. ซึ่งทั้งหมดมีกำกับไว้อยู่แล้ว ทั้งในเรื่องของเวลาการเปิด-ปิด ในพื้นที่ที่เป็นโซนนิ่งและไม่ใช่โซนนิ่ง และการกำหนดเวลาห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ส่วนประเด็นที่ผู้ประกอบการได้ร้องขอให้ยกเลิกกฎหมายบางส่วนนั้น ต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นผู้พิจารณาดำเนินการ สำหรับสิ่งที่ ศบค.รับผิดชอบ จะเป็นไปตามข้อกำหนดที่จะออกมาภายใน 1-2 วันนี้ จะเป็นข้อกำหนดที่ระบุให้สถานบริการดำเนินการตามกฎหมายปกติ ที่มีอยู่ก่อนที่จะมีสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาด

ผู้สื่อข่าวถามถึงความชัดเจนว่าสามารถเปิดสถานบันเทิงได้ถึงเวลาเท่าไหร่ พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่าให้ยึดตามกฏหมายปกติที่จะระบุ เรื่องของเวลาขึ้นอยู่กับประเภทของสถานบริการ ร้านอาหารที่จะเปิดโดยจะมีทั้งที่ให้เปิดได้ถึงเวลา 24.00 น., 01.00 น. และ 02.00 น. ไม่เกินจากนี้ โดยขึ้นอยู่กับรูปแบบการจดทะเบียนสถานบริการและร้านอาหาร

ผู้สื่อข่าวถามว่า การให้ประชาชนสามารถถอดหน้ากากอนามัยในที่โล่งแจ้งได้ แล้วจะพิจารณาอย่างไรว่าจะต้องกลับมาให้ใส่อีกครั้ง พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า ศบค. กำลังจะออกข้อกำหนด โดยมีทั้งการประกาศให้ทั่วประเทศเป็นพื้นที่สีเขียว กิจการกิจกรรมต่างๆ สามารถดำเนินได้ตามปกติ แต่มีข้อกังวลบางส่วนจากกระทรวงสาธารณสุข ที่ได้ออกมาเป็นข้อกำหนดบังคับ คือการจัดกิจกรรมที่จะมีการรวมตัวของคนเกิน 2,000 คน จะต้องได้รับอนุญาตก่อน ขณะที่เรื่องของการผ่อนคลายถอดหน้ากากอนามัย ได้มีการยกเลิกกฎหมายที่บังคับว่าจะต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยอยู่ตลอดเวลา แต่จะมีมาตรการจากกระทรวงสาธารณสุขออกมาแนะนำ ให้ประชาชนควรใส่ในกิจกรรมใดบ้าง และสามารถอนุโลมให้ถอดหน้ากากอนามัยในกิจกรรมใด แต่ในภาพรวมจากสถานการณ์ที่ทุกคนได้เห็น ส่วนตัวคิดว่าการสวมหน้ากากอนามัยนั้นยังมีความจำเป็น เพราะทางการแพทย์เองก็ยังเห็นว่ามีความจำเป็น ส่วนการจะกลับมาบังคับให้สวมหน้ากากอนามัยอีกครั้งนั้น เป็นเรื่องที่จะต้องประเมินวิกฤติที่จะเกิดขึ้น เท่าที่ดูในสถานการณ์ปัจจุบันคิดว่าไม่น่าจะเกิดวิกฤติอีก โดย จะมีมาตรการอื่นๆ ทางการแพทย์ออกมารองรับ

นอกจากนี้ พล.อ.สุพจน์ ได้ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ให้เตรียมการหารือเรื่องความมั่นคงด้านพลังงานและอาหาร หลังสถานการณ์โควิด และเหตุความรุนแรงระหว่างประเทศ ส่งผลกระทบต่อเศษฐกิจโลก ว่าเบื้องต้นการประเมินสถานการณ์ถือเป็นหน้าที่ของ สมช.อยู่แล้ว ไม่ว่าสงครามยูเครน-รัสเซีย จะยุติเมื่อใด สั้นหรือยืดเยื้อ แต่ผลกระทบด้านเศรษฐกิจเกิดขึ้นแล้ว เราจึงต้องมาคิดว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยมีอะไรบ้าง เป็นเจตนารมณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ และสั่งให้ตนดำเนินการ โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านเศษฐกิจเข้ามารือแล้ว และจะนำข้อมูลทั้งหมดมารวมกันเพื่อประเมินสรุปเป็นแผนสำหรับอนาคตทั้งระยะเร่งด่วน ปานกลาง และระยะยาว

โดยระยะเร่งด่วน เราจะดูภาวะเงินเฟ้อ เศรษฐกิจชะลอตัวและถดถอย มีผลกระทบกับประชาชนอย่างไร ถือเป็นความมั่นคงทางด้านพลังงานและอาหาร ปัจจัยที่เกี่ยวข้องแบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก คือผู้บริโภคกับผู้ผลิต ซึ่งเราต้องร่วมมือกับภาคเอกชนด้วย ระหว่างนี้เรากำลังพูดคุยเพื่อจัดระบบ ติดตามประเมินผล และทำข้อเสนอแนะให้รัฐบาล คาดว่าจะมีข้อสรุปออกมาวันที่ 1 ก.ค.65 หากไม่มีปัจจัยอะไรเข้ามาเกี่ยวข้อง

“สมช.มาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อย่างไร ผมทำงานภายใต้ สมช. เป็นเลขาฯ สมช. และเป็นประธานคณะกรรมการเตรียมพร้อมแห่งชาติ ไม่ว่าจะเกิดประเด็นอะไรที่กระทบความมั่นคง คณะกรรมการชุดนี้สามารถหยิบยกขึ้นมาดำเนินการได้ อนาคตอาจมีการตั้งอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อติดตามและทำข้อเสนอให้รัฐบาล” พล.อ.สุพจน์ กล่าว

เมื่อถามว่ารูปแบบการทำงานของสมช.จะอยู่เหนือกระทรวงพลังงานหรือไม่ พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า ไม่เหนือ เป็นการทำงานคู่ขนาน เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำข้อมูลให้รัฐบาล

ต่อข้อถามว่า สมช.จะเสนอกฎหมายอะไรหรือไม่ เพราะที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานขอความร่วมมือเอกชนไม่ได้ พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า เสนอเป็นแนวทางได้ แต่ทุกอย่างต้องดำเนินการภายใต้กฎหมายที่มี และอำนาจตามกระทรวงที่รับผิดชอบ เมื่อถามว่าจะเสนอให้ใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร ด้วยหรือไม่ พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ จะใช้เมื่อมีความจำเป็นซึ่งน่าจะอยู่ในแผน

เมื่อถามว่าการดำเนินการตรงนี้จะทับซ้อนกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือไม่ พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า ไม่ซ้ำซ้อน เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมา สภาพัฒน์ก็มานั่งคุยกัน แต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำข้อมูลมาประเมิน เพื่อเตรียมความพร้อมในอนาคต

เมื่อถามว่า ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาระบุว่านายกฯ ไม่ไว้ใจ รมว.พลังงาน จึงต้องให้เลขาธิการ สมช.มาดูแลเรื่องนี้ ใช่หรือไม่ พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า ตนไม่ทราบ แต่เรื่องดังกล่าวถือเป็นหน้าที่ของ สมช.อยู่แล้ว แม้จะยังไม่กระทบถึงเส้นที่เรามองว่ากระทบความมั่นคง นายกฯ ก็มีนโยบายให้เตรียมความพร้อม