ต่อมาเวลา 12.30 น. วันที่ 23 มิ.ย. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม และมีการพิจารณากระทู้ถามทั่วไป โดยนายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ถามกระทู้ทั่วไปนายสุพัฒน์พงษ์ พันธุ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน ถึงปัญหาราคาน้ำมันแพง ที่ควรนำกำไรจาก ปตท.ปีละหลายหมื่นล้านบาทมาช่วยเหลือประชาชน ว่าที่ผ่านมาปี 63 ปตท.ได้กำไร 30,000 ล้านบาท ปี 64 กำไร 1 แสนล้านบาท ควรส่งเงินปันผลให้กระทรวงการคลังเพิ่มขึ้น ขณะที่ต้นทุนการกลั่นน้ำมันนั้น ประเทศไทยมีโรงกลั่นน้ำมันเอง แต่ไม่ตั้งราคากลั่นจากต้นทุนตัวเอง ไปอ้างอิงราคาจากสิงคโปร์ โดยคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการศาล องค์กรอิสระ อัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรมหาชนและกองทุน สภาผู้แทนราษฎร เคยขอข้อมูล ปตท.ถึงต้นทุนการกลั่นที่แท้จริง แต่ ปตท.อ้างไม่มีข้อมูล เพราะบริษัทลูกเป็นผู้กลั่น เป็น รมว.พลังงาน แล้วไม่สามารถกำกับ ปตท.ได้ จะมาเป็น รมว.พลังงาน ทำไม อยากถามจะมีนโยบายนำกำไรจาก ปตท.มาช่วยประชาชนอย่างไร และเห็นผลเมื่อใด

ทั้งนี้ นายสุพัฒนพงษ์ชี้แจงว่า การเอากำไรทั้งหมดของ ปตท.ไปช่วยคงทำไม่ได้ เพราะเท่ากับผู้ถือหุ้นไม่ได้อะไรเลย ส่วนการให้ ปตท. ส่งเงินปันผลแต่ละปีให้กระทรวงการคลังเพิ่มขึ้น เพื่อใช้พยุงราคาน้ำมันทำได้ แต่ต้องไปตกลงในการประชุมผู้ถือหุ้นก่อน บริษัทพลังงานทุกแห่งต้องรักษาเสถียรภาพด้านพลังงาน หากไม่มีการลงทุนเตรียมความพร้อมใดๆ จะเกิดความเสี่ยงด้านพลังงาน นโยบายทุกรัฐบาลให้ความสำคัญเสถียรภาพความมั่นคงด้านพลังงานมาเป็นอันดับ 1 ทุกรัฐบาล ส่วนต้นทุนการกลั่นน้ำมันของโรงกลั่นที่ ปตท. ไม่ให้ข้อมูลนั้น ขอให้ไปคุยกับโรงกลั่นโดยตรง จะได้เข้าใจตรงกัน เรื่องค่ากลั่น ทางกระทรวงพลังงานพยายามเจรจาโรงกลั่นอยู่ และได้รับความร่วมมือจากโรงกลั่น 6 แห่ง เชื่อว่าน่าจะได้ข้อสรุป

“หากค่าการกลั่นยังสูงขึ้นต่อเนื่อง กระทรวงพลังงานจะร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ หามาตรการต่างๆ สร้างกติกาให้โรงกลั่นที่มีส่วนเกินของกำไร ลดราคาต่างๆ ต่อไป ถ้าจำเป็นต้องยกร่างกฎหมาย อาจต้องมาส่งถึงสภาแห่งนี้ คาดว่าในไตรมาส 3 จะมีมาตรการที่ชัดเจนออกมา” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว