โดยดราม่าร้อนล่าสุดคือการตอบกระทู้ถามสดในสภา จากการที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ไม่ว่างมาตอบกระทู้แต่กลับมอบหมายรัฐมนตีไปอีกหลายทอด ซึ่งสุดท้ายไม่มีใครว่างมาตอบ จนทำเอา สุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานในขณะนั้น สอนมวยกลางสภาว่า เป็นนักการเมืองการมอบหมายอย่าสั่งเหมือนทหาร คือสั่งไปแล้วถือว่าจบกัน เพราะมอบหมายแล้วไม่มาตอบถือว่าไม่มีความรับผิดชอบ

ขณะที่การทำหน้าที่ของ ส.ส.ในสภาก็ปั่นป่วนใช่ย่อย เพราะ ส.ส.ส่วนใหญ่เริ่มมองข้ามไปถึงการเตรียมการเลือกตั้งครั้งหน้ากันแล้ว จนทำเอา ส.ส.หลายต่อหลายคนไม่มีสมาธิเข้าทำงานในสภา สะท้อนให้เห็นภาพสภาโหรงเหรง โดยเฉพาะในระหว่างการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพการสัตวบาล พ.ศ…. ช่วงที่มีการขอมติต่อข้อสังเกต กมธ.พบว่า มีผู้แสดงตนเพียง 239 คนเท่านั้นจนทำเอา “ครูแก้ว” ศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯ คนที่ 2 ซึ่งทำหน้าที่ประธานที่ประชุมในขณะนั้น ถึงกลับต้องติงแรงๆว่า “ตัวเลขที่แสดงครบองค์ประชุมเป๊ะ ขอให้ฝ่ายรัฐบาลทำงานหน่อย หากมีสมาชิกเข้าห้องน้ำไปคนเดียวต้องปิดประชุมทันที”

งานนี้ก็กลายเป็นการประจานการทำงานในสภากันเอง ในการไม่สนใจทำหน้าที่ผู้แทนราษฎรและตัวแทนประชาชนที่เลือกเข้ามานั่งในสภา

เรื่องที่เกิดขึ้นมองได้ว่า ส.ส.หลายคนกำลังอ่านเกมการเมืองในอนาคต มองไปถึงการเลือกตั้งครั้งหน้า ว่าจะมีการพลิกขั้ว กลับตัวกลับใจอย่างไร เพราะตอนนี้อยู่ในช่วงที่การเมืองกำลังตะลุมบอลกันแบบฝุ่นตลบ แม้จะยังเหลือ “ศึกซักฟอกใหญ่” รออยู่ข้างหน้า แต่ก็เริ่มมีการเจรจาต่อรอง ปลูกไร่กล้วยรอแจกกันในสภาอย่างโจ๋งครึ่ม

สำหรับญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 ซึ่งเป็นการทิ้งทวนศึกซักฟอกครั้งสุดท้าย ภายใต้ยุทธการ “เด็ดหัวสอยนั่งร้าน” โดยมีการล็อคเป้ารัฐมนตรี 11 ราย ทั้งหัวใจสำคัญของรัฐบาลอย่าง “พี่น้อง 3 ป.” พร้อมด้วย 8 รัฐมนตรี จากพรรคพลังประชารัฐ, ภูมิใจไทย และประชาธิปัตย์

โดยล่าสุด ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้มีการบรรจุญัตติซักฟอกเข้าสู่วาระการประชุมสภาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยวางไทม์ไลน์ขึ้นเขียงเชือด 11 รัฐมนตรี ในช่วงวันที่ 18 ก.ค.เป็นต้นไป ซึ่งจะเป็นการตีตั๋วรุมสกรัม “สงครามน้ำลาย” กันแบบจุกๆ และอาจลากยาวถึง 5 วัน

จับสัญญาณแรงเคลื่อนของฝ่ายค้านจากท่าทีของ สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ที่เคยพูดไว้ชัดเจนว่า ไม่ได้คาดหมายมือในสภา หากคาดหมายได้ไม่มากเพราะเป็นช่วงปลายเทอมการลงคะแนนจึงคิดว่ามีทั้งขาไปและขามา แต่การอภิปรายดีมีคุณภาพ คิดว่าส.ส.ก็คงเห็นด้วยกับเรา รวมถึงประชาชนที่เห็นด้วยกับเรา ซึ่งงานนี้มองได้ว่าการตั้งเป้าอภิปรายเพื่อสื่อสารไปยังประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เป็นการส่งสัญญาณ “มองไกล” ไปถึงการเลือกตั้งครั้งหน้า

ทั้งนี้เมื่อสแกนดูรัฐมนตรีทั้ง 11 รายที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้ ก็คงพอจะจับชีพจรได้ว่า ใครรอด-ใครร่วง เพราะจากคำพูดของ “บิ๊กป้อม” ที่แม้จะบอกว่า พรรคเศรษฐกิจไทยจะทำหน้าที่พิทักษ์รัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายทั้งหมด เพราะเป็นพรรคร่วมรัฐบาล แต่ก็ยอมรับว่า “มีบางคนที่แล้วแต่ความคิดของเขา ก็ไม่เป็นไร” ซึ่งอาจตีความได้ว่างานนี้กลุ่มของพรรคเศรษฐกิจไทยอาจไม่โหวตไว้วางใจให้รัฐมนตรีทุกคนหรือไม่  ทั้งนี้เมื่อเขย่ากันดูแล้ว “รัฐมนตรีที่ยืนอยู่บนเส้นด้าย” เวลานี้ คือกลุ่มรัฐมนตรีพรรคพลังประชารัฐ ที่ยืนอยู่ขั้วตรงข้าม “ผู้กองธรรมนัส” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย (ศท.)

ทั้งในรายของ “เสียเฮ้ง” สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ท่ามกลางดราม่าการถูกเพิ่มชื่อเป็นคนสุดท้าย ทั้งที่ ส.ส.ฝ่ายค้านที่ร่วมลงชื่อบางคนไม่ทราบเลยว่ามีชื่อรัฐมนตรีรายดังกล่าวอยู่ในญัตติด้วย จนเจ้าตัวออกมาโวยว่าเป็น “ญัตติเถื่อน” ซึ่งจะว่าไปแล้ว “เสียเฮ้ง” มีแผลใจ “ผู้กองธรรมนัส” ชัดเจน จากกรณีการงัดข้อหลังพรรคเลือกตั้งซ่อมสงขลา-ชุมพร ที่กลายมาเป็นจุดแตกหักและนำไปสู่การแยกตัวของ กลุ่ม ส.ส.พรรคเศรษฐกิจไทย

 ขณะที่ “เสี่ยโอ๋” ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่ออกอาการงัดข้อพรรคเศรษฐกิจไทย โดยออกมาให้สัมภาษณ์ว่ามั่นใจว่าเสียงรัฐบาลจะเพียงพอในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ไม่จำเป็นต้องมีเสียงของพรรคเศรษฐกิจไทย จนถูก “ผู้กองธรรมนัส” ขู่ไว้ว่า “รัฐมนตรีที่พูดเก่งๆ เดี๋ยวจะตกเก้าอี้โดยไม่รู้ตัว” มิหนำซ้ำยังถูกฝ่ายค้านจองกฐินเรื่องศีลธรรมจริยธรรม รวมทั้ง สันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ที่ถูกพรรคฝ่ายค้าน และบรรดาพรรคเล็กกลุ่ม 16 หมายหัวรุมกินโต๊ะจากปัญหาโครงการท่อส่งน้ำในภาคตะวันออก (EEC)

และอีกคนที่ถือเป็น “เป้าล่อ” ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้อย่าง “บิ๊กตู่” ที่ถึงแม้จะมั่นใจว่าจะได้เสียงโหวตไว้วางใจเกินครึ่ง แต่ก็ยังต้องนั่งลุ้นรอนับแต้มว่า เสียงโหวตที่ได้จะห้อยท้ายในลำดับบ๊วยหรือไม่ เพราะงานนี้เรียกได้ว่าต้องรับศึกหลายด้าน ทั้งกลุ่มกบฏเก่า ที่เคยเดินเกมโค่นเก้าอี้ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่ผ่านมา และยังมีฝ่ายค้านที่หวัง “เด็ดหัว” ทิ้งทวนการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งสุดท้าย ซึ่งแต่ต่างกับ “พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์” ที่ออกมาพูดชิลชิลว่า ไม่ได้เก็งข้อสอบว่าฝ่ายค้านจะอภิปรายอะไร เพราะไม่ได้ทำอะไรผิด จะต้องไปเก็งทำไม ถ้าถามมาก็ตอบไปเท่านั้น

งานนี้การเอาตัวรอดของ “บิ๊กตู่” จึงขึ้นอยู่กับการอาศัยเสียงสนับสนุนจากกลุ่ม “งูเห่า” ในสภา รวมทั้งขึ้นอยู่กับว่าจะสามารถดูแลพรรคเล็กได้อย่างอิ่มหมีพีมัน จนยอมยกมือโหวตสนับสนุนในสภาอย่างว่าง่ายหรือไม่

แต่ขณะเดียวกันฝ่ายค้านเองก็ถูกจับตามองเป็นพิเศษจากการเดินเกมอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ ทั้งจากเรื่องข้อมูลรั่วญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ สุชาติ ชมกลิ่น จนถูกกล่าวหาว่าเป็น “ญัตติเถื่อน” รวมทั้งข้อกล่าวหาว่ามีการยื่นอภิปรายไม่ไว่วางใจแบบ “ผิดฝาผิดตัว” คนที่ควรโดนอภิปรายกลับไม่อยู่ในรายชื่อรัฐมนตรีที่ถูกพาขึ้นเขียง

จนทำให้ อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาชี้โพลงขอให้ฝ่ายค้าน เพิ่มชื่อ สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน แทน สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เนื่องจากมองว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนในขณะนี้ สะท้อนให้เห็นได้ชัดถึงความยากลำบากจากวิกฤติราคาพลังงาน ที่ประชาชนต้องทนแบกรับค่าน้ำมัน ค่าก๊าซหุงต้มที่พุ่งสูง จนเป็นปัจจัยทำให้สินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ พาเหรดราคาขึ้นไปตามๆ กัน จากปัญหาราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นสูงอย่างต่อเนื่องโดยที่รัฐบาลไม่สามารถที่จะแก้ไขได้ และประชาชนได้แต่มองตาปริบๆ

แม้งานนี้ สุพัฒนพงษ์ ไม่มีชื่อเป็นรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่จากผลกระทบราคาน้ำมันที่หนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ ก็อาจจะต้องจับตามองขาเก้าอี้ รมว.พลังงาน กันให้ดี เพราะถึงแม้ล่าสุดรัฐบาลจะมีการออก 9 มาตรการเร่งด่วนที่จะช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจ สถานการณ์วิกฤติด้านพลังงาน ทั้งการตรึงราคาขายปลีกก๊าซ NGV, การกำหนดกรอบราคาขายปลีก ก๊าซ LPG, การขยายเวลาให้ส่วนลด LPG ร้านค้าหาบเร่แผงลอยและผู้ที่มีรายได้น้อยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ, การอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลร้อยละ 50 ในราคาขายที่สูงกว่าลิตรละ 35 บาทต่อลิตร, คงค่าการตลาดน้ำมันดีเซลไม่เกิน 1.40 บาท ต่อลิตร รวมไปถึงการขอความร่วมมือโรงกลั่นน้ำมัน นำส่งกำไรจากค่าการกลั่นส่วนหนึ่งเข้ากองทุนน้ำมัน เป็นต้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะเห็นได้ว่ามาตรการส่วนใหญ่แก้ปัญหาที่ปลายเหตุ และเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น เพียง 3 เดือนเท่านั้น

ขณะที่วิกฤติภาพใหญ่ที่ยังต้องเผชิญอาจจะเรียกได้ว่า “วิกฤติมหาวิปโยค” เพราะเป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติ ทั้งวิกฤติสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังคงยืดเยื้อ วิกฤติพลังงานที่ส่งผลกระทบทั่วโลก และวิกฤติโรคระบาด ซึ่งงานนี้รัฐบาลรู้อยู่แก่ใจดีว่าอะไรรออยู่ในอนาคต โดยล่าสุด “บิ๊กตู่” มีการมอบหมายให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เตรียมการหารือเรื่องความมั่นคงด้านพลังงานและอาหาร หลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย

ท้ายที่สุด หากมองภาพโดยรวมหลังอภิปรายไม่ไว้วางใจก็คงต้องเกิดการปรับ ครม. โดยที่มีเก้าอี้ รมช.ศึกษาธิการ ที่กำลังออกอาการสั่นคลอนอย่างหนัก รวมทั้งยังมีเก้าอี้ รมช.เกษตรและสหกรณ์ และ รมช.แรงงาน ที่ยังเป็นโควตาว่างอยู่ เป็นฐานไปสู่การปรับ ครม. ดังนั้นรัฐบาลควรใช้โอกาสนี้ปรับคนให้เหมาะกับงาน เพื่อเตรียมพร้อมเผชิญวิกฤติที่กำลังจะเกิดขึ้น มากกว่าจะเป็นเพียงการแบ่งเค้ก-เกลี่ยอำนาจเท่านั้น.