เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ที่โรงแรมริชมอนด์ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่าขณะนี้เหลือเพียงสายพันธุ์โอมิครอนเท่านั้นที่ถูกจัดให้เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล ตอนนี้แทบไม่มีสายพันธุ์อื่นๆ หลงเหลืออยู่เลย ทั้งนี้ในส่วนของโอมิครอนนั้นมีสายพันธุ์ย่อยหรือลูกหลานที่น่ากังกล คือ BA.2.12.1 BA.2.9.1 BA.2.11 BA.2.13 และ BA..4 BA.5  แต่ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษคือ BA..4 BA.5 แต่เพราะมีการกลายพันธุ์ในตำแหน่ง L452R ซึ่งเป็นตำแหน่งเดียวกับสายพันธุ์เดลตา ทำให้เกิดอันตรายกับปอดมากขึ้น จึงมีความกังวลว่าโอมิครอน BA..4 BA.5 จะแพร่เร็ว มีความรุนแรงเหมือนกับสายพันธุ์เดลตา อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลกมีการวิเคราะห์ข้อมูลในช่วง 2 สัปดาห์สุดท้ายพบว่าสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอนตัวอื่นๆ มีการติดเชื้อลดลง มีเพียงสายพันธุ์ BA.5 เท่านั้น ที่มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นจาก 16% เป็น 25% จึงต้องจับตาใกล้ชิดในสายพันธุ์ BA.5 มากกว่า

สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทยมีการเฝ้าระวังมาอย่างต่อเนื่อง โดยพบสายพันธุ์ BA.4 BA.5 ตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้มีการตรวจแบบเร็วพบ 2 สายพันธุ์ย่อยดังกล่าว 181 ราย ส่งรายงานเข้าไปยัง GISAID แล้ว และในสัปดาห์หลังพบมีการส่งเคสเข้ามาตรวจมากขึ้น จากทั้งโรงพยาบาลเอกชน และโรงพยาบาลของรัฐ ซึ่งการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัวพบราวๆ 81 ตัวอย่าง กำลังจะรายงานเข้าไปยัง GISAID แต่ตัวเลขอาจจะทับซ้อนกับรายงานก่อนหน้านี้ ดังนั้นจึงพอสรุปคร่าวๆ ได้ว่า มีการพบสายพันธุ์ย่อยดังกล่าวประมาณ 200 ตัวอย่างนิดๆ ส่วนใหญ่พบในพื้นที่กรุงเทพมหานคร อาจเป็นเพราะเป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้ศูนย์ตรวจ เลยส่งตรวจมามาก แต่ไม่ใช่ว่าพบความผิดปกติเลยส่งมาตรวจ แต่เพราะติดตามสถานการณ์โลก จึงเฝ้าระวังกันมากข้น ทั้งนี้ 72.7% เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ อีก 27.3% เป็นการติดเชื้อในประเทศ โดยสัปดาห์หลังนี้มีรายงานพุ่งพรวดขึ้นมา 50% คงต้องรออีก 2-3 สัปดาห์ถึงจะเห็นแนวโน้มจริงของการระบาดของสายพันธุ์นี้ในประเทศไทย

เมื่อถามว่า ในจำนวนเคสที่พบ BA.4 BA.5 กลุ่มอาการเป็นอย่างไรบ้าง และมีรายงานว่า ในพื้นที่ กทม.มีรายงานผู้ติดเชื้อมีอาการ อัตราการครองเตียงเพิ่มขึ้น 10% มีความสัมพันธ์กับ 2 สายพันธุ์นี้หรือไม่ นพ.ศุกภิจ กล่าวว่า ไม่มีรายงานผู้ที่มีอาการหนัก หรือเสียชีวิตจากสายพันธุ์นี้เข้ามา ส่วนพื้นที่ กทม.ที่มีรายงานอาการหนักครองเตียงเพิ่มขึ้นนั้น เราไม่ได้มีการตรวจหาสายพันธุ์ในกลุ่มผู้มีอาการหนักตรงนี้ ส่วนเรื่องยารักษาโรคปัจจุบันที่มีอยู่ยังสามารถรักษาได้  

“ยังไม่มีใครฟันธงได้ว่าจะรุนแรงกว่าเดิมหรือไม่ แต่คนที่เคยติดเชื้อโอมิครอน BA.1 BA.2 มาก่อนสามารถติดเชื้อ BA.4 BA.5 ซ้ำได้ โดยคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนจะพบว่า เมื่อมาติด BA.5 ภูมิคุ้มกันที่จะสู้กับเชื้อลดลงไปมาก 6-7 เท่า ส่วนผู้ที่ฉีดวัคซีน ภูมิคุ้มกันที่จะสู้กับเชื้อลด 1-2 เท่า ดังนั้น ถ้าฉีดวัคซีนและภูมิคุ้มกันในร่างกายสูงมากพอจะสู้ได้มากกว่าคนไม่ฉีดวัคซีน การรับวัคซีนเข็มกระตุ้นยังจำเป็น เพราะช่วยให้มีภูมิคุ้มกันมากพอ ช่วยลดความรุนแรงและอาการต่างๆ มีมาตรการป้องกันตัวเองอย่างเหมาะสม แม้จะมีการออกคำแนะนำว่าให้ใส่ตามสมัครใจ แต่การสวมหน้ากากอนามัยและล้างมือเป็นความตระหนักรู้ของประชาชน ขอให้ถามตัวเองว่า หากเราอยู่คนเดียวไม่มีปัญหาอะไร อยู่ห่างไกลจากผู้คนก็ถอดได้ แต่ถ้าตอนไหนที่คิดว่ามีความจำเป็นไปพูดคุยกับคน ก็ใส่ไว้ป้องกันหลายโรคได้” นพ.ศุภกิจ กล่าว.