เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 24 มิ.ย. ที่รัฐสภา นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.) และนพ.บัญญัติ เจตนจันทร์ ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพ.ศ.2566 แถลงผลการประชุม กมธ. โดย นพ.บัญญัติ กล่าวว่า กมธ.ใช้เวลาในการพิจารณางบประมาณมาแล้วทั้งหมด 12 วัน รวม 113 ชั่วโมง ซึ่งมีหน่วยงานที่ผ่านการพิจารณาไปแล้ว 4 กระทรวง 3 กองทุน คือ 1.กระทรวงการคลัง 2.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 3.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 4.กระทรวงคมนาคม คิดเป็นร้อยละ 14.8 ของหน่วยงานที่ต้องพิจารณาทั้งหมด โดยวันนี้จะพิจารณาหน่วยงานในสังกัดกระทรวงพาณิชย์

นพ.บัญญัติ กล่าวด้วยว่าที่ประชุมยังได้พิจารณาแต่งตั้งคณะอนุกรรมาธิการ 9 คณะ ได้แก่ 1.คณะอนุกรรมาธิการฝึกอบรม สัมมนา ประชาสัมพันธ์ ค่าจ้างเหมา บริการ ค่าจ้างที่ปรึกษา ค่าเช่า ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการต่างประเทศ งบดำเนินงาน งบเงินอุดหนุน และงบรายจ่ายอื่น วงเงิน 201,476.6245 ล้านบาท  2.คณะอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์ และ ICT รัฐวิสาหกิจ และทุนหมุนเวียน วงเงิน 336,229.1597 ล้านบาท  3.คณะอนุกรรมาธิการที่ดิน และสิ่งก่อสร้าง วงเงิน 168,228.9029 ล้านบาท 4.คณะอนุกรรมาธิการจังหวัด/กลุ่มจังหวัด องค์การบริหารส่วนจังหวัด กรุงเทพมหานคร และพัทยา วงเงิน 62,429.5194 ล้านบาท 5.คณะอนุกรรมาธิการท้องถิ่น เทศบาลนคร เทศบาลเมือง และเงินอุดหนุน ที่จัดสรรให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (เทศบาลตำบล และองค์การบริหารส่วนตำบล) ของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น วงเงิน 263,063.1368 ล้านบาท โดยอนุกรรมาธิการทั้ง 2 ยังรอการยืนยันรายชื่อ

6.คณะอนุกรรมาธิการด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและถ่ายทอด เทคโนโลยี วงเงิน 208,762.0471 ล้านบาท 7.คณะอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 1 วงเงิน 145,488.6601 ล้านบาท 8.คณะอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2 วงเงิน 72,989.0288 ล้านบาท และ 9.คณะอนุกรรมาธิการข้อสังเกต ทั้งนี้ คาดว่า คณะอนุกรรมาธิการ ทั้ง 8 คณะ ยกเว้นคณะอนุกรรมาธิการข้อสังเกต จะเริ่มประชุมนัดแรกในวันที่ 27 มิ.ย.นี้

ทางด้านนายยุทธพงศ์ กล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณางบของกรมทางหลวง มีทั้งสิ้น 118,837,626,400 บาท โดยกรรมาธิการได้สอบถาม เกี่ยวกับโครงการก่อสร้างทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี-ปากท่อ (ถนนพระราม 2) งบประมาณลงทุนในปีนี้ 2,008,921,800 ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่และการทางพิเศษแห่งประเทศไทยกำลังจัดทาทางเชื่อมบริเวณสะพานแขวนพระราม 9 เพื่อเชื่อมกับทางยกระดับของกรมทางหลวง บริเวณเขตบางขุนเทียน โดยช่วงบางขุนเทียน–เอกชัย หน่วยงานได้แบ่งการก่อสร้างเป็น 3 ตอน

ได้แก่ ตอนที่ 1 อยู่ที่กรุงเทพมหานคร ระยะทาง 2.575 กิโลเมตร วงเงินทั้งสิ้น 3,994,400,000 บาท แต่ขอจัดสรรงบประมาณปี 66 จำนวน 821,561,200 บาท ตอนที่ 2 อยู่ที่ จ.สมุทรสาคร ระยะทาง 4.107 กิโลเมตร วงเงินทั้งสิ้น 3,991,986,000 แต่ขอจัดสรรงบประมาณปี 66 จำนวน 888,840,700 บาท ตอนที่ 3 อยู่ที่ จ.สมุทรสาคร ระยะทาง 1.653 กิโลเมตร วงเงินทั้งสิ้น 2,491,000,000 บาท แต่ขอจัดสรรงบประมาณปี 66 จำนวน 294,076,300 บาท ทั้งนี้ กรรมาธิการได้สอบถามหน่วยงานว่า จากการสำรวจพื้นที่บริเวณดังกล่าวเห็นว่า การก่อสร้างทำให้เกิดการจราจรติดขัดอย่างมาก โครงการนี้จะแล้วเสร็จเมื่อใด

โดยผู้แทนของหน่วยงานชี้แจงว่า หน่วยงานเริ่มก่อสร้างในพื้นที่ที่มีความจำเป็น เพื่อแก้ไขปัญหาช่วงที่มีปริมาณจราจรหนาแน่นก่อน ซึ่งช่วงบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว จะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 67 สำหรับเส้นทางส่วนที่เหลือจากบ้านแพ้วถึงปากท่อ กรมทางหลวงมีความพร้อม ในเรื่องของแบบก่อสร้าง โดยเป็นเฟสต่อไปที่อยู่ในแผนงานอนาคต นอกจากนี้กรรมาธิการบางท่านได้สอบถามถึงเรื่องการทิ้งงานของผู้รับเหมาที่รับงานเรื่องการก่อสร้างถนน การตีเส้นสะท้อนแสงและซ่อมแซมหลุมบนถนนของหน่วยงานกรมทางหลวงไปดำเนินการ แต่กลับทิ้งงานหรือดำเนินการล่าช้า หน่วยงานมีแนวทางแก้ไขปัญหานี้อย่างไร มีการขึ้นบัญชีดำผู้รับเหมาที่ทำผิดสัญญาหรือไม่

นายยุทธพงศ์ กล่าวด้วยว่า ผู้แทนของกรมทางหลวงชี้แจงว่าในช่วงที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 มีการผ่อนปรนผู้รับเหมาก่อสร้างในเรื่องของค่าปรับ แต่ในปัจจุบันหน่วยงานได้ขึ้นบัญชีดำผู้ที่ทิ้งงานแล้ว โดยทุกสัญญารับเหมาที่ดำเนินการล่าช้ากว่าร้อยละ 10 หรือทิ้งงาน หน่วยงานได้ดำเนินการขึ้นบัญชีดำ โดยจะไม่ให้รับงานจากหน่วยงานอีกต่อไป อย่างไรก็ตาม นายสันติ พร้อมพัฒน์  รมช.คลัง ซึ่งเป็นประธานในที่ประชุม กมธ. มีข้อสังเกตในประเด็นนี้ด้วยเช่นกัน โดยได้กล่าวว่า หน่วยราชการได้ยุติมาตรการผ่อนปรนผู้รับเหมาที่ทิ้งงานหรือดำเนินการ ล่าช้าจากสถานการณ์โควิด-19 แล้ว หากผู้รับเหมาดำเนินการล่าช้ากว่า ร้อยละ 10 จะถูกขึ้นบัญชีดำทั้งหมด โดยขอให้ทุกหน่วยงานที่ได้รับผลกระทบจากผู้รับเหมาทำผิดสัญญา แจ้งรายชื่อผู้รับเหมาที่ทิ้งงานหรือดำเนินการล่าช้ามาที่กรมบัญชีกลาง เพื่อพิจารณาขึ้นบัญชีดำ ซึ่งจะทำให้ผู้รับเหมาตั้งใจทำงานมากขึ้น