เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีประเด็นดราม่าในโลกออนไลน์ถึงบัตรเข้าชมศึกแดงเดือด ระหว่างทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และลิเวอร์พูล ที่จะมาแข่งขันในรายการ The Match Bangkok Century Cup 2022 ในวันที่ 12 ก.ค.65 ที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน ซึ่งเกิดขึ้นหลัง “พิมรี่พาย” แม่ค้าออนไลน์ชื่อดัง ได้ไลฟ์สดขายบัตรเข้าชมผ่านเพจกว่า 2 หมื่นใบ ควักเงินใช้ตรงนี้มากถึง 400 ล้านบาท และยังบอกด้วยว่ามีบัตรรอบซ้อมของ “แจ็คสัน หวัง” นักร้องวง GOT7 และทานข้าวมื้อพิเศษกับนักฟุตบอลของทั้ง 2 สโมสร

ในเวลาต่อมา บริษัท เฟรชแอร์ เฟสติวัล จำกัด ผู้จัด THE MATCH Bangkok Century Cup 2022 ออกหนังสือชี้แจงกรณีการจำหน่ายบัตรเข้าชมวันซ้อมคอนเสิร์ต และมื้อพิเศษกับนักฟุตบอลและแจ็คสัน หวัง ว่า ไม่มีการจำหน่ายบัตรเข้าชมวันซ้อมคอนเสิร์ต และไม่มีการจัดมื้อพิเศษกับนักฟุตบอลทั้งสองสโมสร หรือ แจ็คสัน หวัง แต่อย่างใด

ทำให้ในเรื่องนี้ ได้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจนติดเทรนด์ทวิตเตอร์ตั้งแต่เมื่อค่ำคืนที่ผ่านมาจนถึงในเวลานี้ และเรียกร้องให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เข้ามาตรวจสอบกันแล้วว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร

ล่าสุดจากที่ผู้สื่อข่าวสอบถามไปยังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้รับคำตอบมาว่า “ขณะนี้ในเบื้องต้นยังไม่ทราบข้อมูลรายละเอียดเชิงลึกมากนัก ต้องขอเวลาในการตรวจสอบข้อมูลให้ชัดเจนก่อน”

ขณะเดียวกัน ในสื่อสังคมออนไลน์ยังพาดพิงไปถึง “บิทคับ” ซึ่งได้มีการจัดจำหน่ายบัตรรายการนี้อยู่เช่นกัน จนล่าสุด บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด และบริษัทในเครือ ได้ชี้แจงว่า บัตรเข้าชมการแข่งขันที่ทางบิทคับได้รับ จะไม่มีความเกี่ยวข้องกับสปอนเซอร์อื่นใด หรือผู้จัดจำหน่ายอื่นใดทั้งสิ้น เนื่องจากบิทคับไม่มีการทราบรายละเอียดข้อสัญญาหรือข้อตกลงระหว่างบริษัท เฟรชแอร์ เฟสติวัล จำกัด หรือ บริษัท ไทยทิคเก็ต เมเจอร์ จำกัด หรือ บริษัทอื่นๆ ที่ทำร่วมกับบริษัท องค์กร หรือบุคคลอื่นๆ

โดยข้อตกลงในการแจกจ่ายหรือจัดจำหน่ายบัตรในส่วนของบิทคับจะทำการแจกจ่ายหรือจัดจำหน่ายได้หลังจากการจัดจำหน่ายบัตรผ่านช่องทางของไทยทิคเก็ต เมเจอร์ ได้หมดลง หรือหากบัตรของจากช่องทางอื่นยังไม่หมด บิทคับสามารถเริ่มแจกจ่ายหรือจำหน่ายบัตรได้ในเดือนมิถุนายน เป็นต้นไป

ซึ่งบัตรเข้าชมได้เริ่มแจกจ่ายและจัดจำหน่ายเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา ผ่าน Bitkub M Social เป็นช่องทางหลัก และมีการให้โควต้ากับพันธมิตร อาทิ บริษัทนำเที่ยวโดยวัตถุประสงค์เพื่อช่วยกระจายบัตรเท่านั้น ส่วนการจัดการผ่านแพลตฟอร์มการชำระเงิน เป็นเพียงการอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า โดยบัตรเข้าชมการแข่งขันที่ลูกค้าได้รับจากบิทคับทุกช่องทาง จะออกในนามบริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด และสามารถขอออกใบกำกับภาษีในนามบริษัท แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด เท่านั้น

ทั้งนี้จากการรวบรวมข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า “พิมรี่พาย” หรือ พิมรดาภรณ์ เบญจวัฒนะพัชร์ ได้มีชื่อปรากฏว่า มีชื่อจดทะเบียนดำเนินธุรกิจหลายบริษัท เป็นผู้ถือหุ้นอย่างน้อย 8 บริษัท มูลค่าหุ้นทั้งหมด 2.58 ล้านบาท ส่วนงบการเงินในแต่ละบริษัทสิ้นปี 64 ประกอบด้วย

1.บริษัท เดอะ พิมรี่พาย จำกัด รายได้รวม 43,982,614 บาท ขาดทุน 2,772,052 บาท

2.บริษัท พิมรี่ ฟู้ดส์ จำกัด รายได้รวม 338,121,553 บาท กำไร 658,389 บาท

3.บริษัท พิมรี่ มอลล์ จำกัด รายได้รวม 129,524,157 บาท กำไร 2,319,142 บาท

4.บริษัท พิมรี่ มีเดีย จำกัด รายได้รวม 11,227,613 บาท กำไร 423,690 บาท

5.บริษัท พิมรี่ รีเทล จำกัด รายได้รวม 15,940,268 บาท ขาดทุน 3,003,035 บาท

6.บริษัท พิมรี่ โลจิส จำกัด รายได้รวม 187,017,285 บาท กำไร 3,333,429 บาท

7.บริษัท พิมรี่พาย แอนด์ เฟรนด์ จำกัด รายได้รวม 11,695,824 บาท ขาดทุน 3,189,570 บาท

8.บริษัท ไฮคลาวด์ มิวสิค จำกัด รายได้รวม 39,444,976 บาท ขาดทุน 5,078,716 บาท