เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าการประชุม ร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 5 เพื่อเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. …. โดยภาพรวมที่ประชุมเริ่มพิจารณาตั้งแต่เวลา 09.48 น. ตั้งแต่มาตรา 77 จนถึงมาตรา 118 จากทั้งหมด 172 มาตราในเวลา 15.57 น. โดยในวันนี้สามารถพิจารณาได้ 41 มาตรา ทำให้เหลืออีก 54 มาตรา และจะมีการประชุมร่วมรัฐสภาอีกครั้งในวันที่ 1 ก.ค. ซึ่งคาดว่าจะพิจารณาวาระ 2-3 เสร็จสิ้น

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการพิจารณา มาตรา 106 ซึ่ง กมธ.เขียนไว้ว่า “เมื่อมีความจำเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพื่อประโยชน์การรักษาวินัยและปราบปรามข้าราชการตำรวจผู้ก่อการกำเริบ หรือเพื่อบังคับข้าราชการตำรวจผู้ละทิ้งหน้าที่ให้กลับทำหน้าที่ของตน ผู้บังคับบัญชาอาจใช้อาวุธหรือกำลังบังคับได้ และถ้าได้กระทำการโดยสุจริตตามสมควรตามสมควรแก่เหตุแล้ว ผู้บังคับบัญชาหรือผู้ช่วยเหลือไม่ต้องรับผิดทางแพ่งและอาญา” ทำให้ถูกสมาชิกสงวนคำแปรญัตติโดยขอให้แก้ข้อความหลายคน อาทิ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ขอแปรญัตติขอให้ตัดคำว่า “อาวุธ” ออก

ขณะที่ พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกมธ.วิสามัญฯ ขอแก้ไข ให้เพิ่มเติมคำว่า “แต่ต้องไม่เป็นอันตรายแก่ชีวิต ” และมีสมาชิกหลายคน สงวนความเห็นขอให้ตัด มาตรา 106 ออกทั้งมาตรา อาทิ นายวิชา มหาคุณ ส.ว. นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. พ.ต.ต.ชวลิต เลาหอุดมพันธ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล นายนพดล เภรีฤกษ์ ตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ในฐานะ กมธ.วิสามัญฯ

ทั้งนี้นายวิชา มหาคุณ ส.ว. อภิปรายว่า เห็นว่ายังจำเป็นต้องใช้ระบบที่ลูกน้องต้องเชื่อฟังนายอย่างเคร่งครัดอยู่ การบอกว่าถ้ากระด้างกระเดื่อง หรือลุกขึ้นต่อต้าน อาจจะต้องถูกผู้คับบัญชาจัดการด้วยความรุนแรง ใช้ได้ทั้งอาวุธ และกำลัง โดยไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและอาญาถ้าสุจริต แต่คำว่าสุจริต ตามพจนานุกรมแปลว่าความประพฤติถูกต้องตามทำนองคลองธรรม แต่การใช้อาวุธ ใช้กำลัง แม้แต่กับบุคคลโดยทั่วไป ก็ถือว่าอาจจะขัดกับทำนองคลองธรรมได้แล้ว แต่นี่ให้กระทำได้กับลูกน้องของตน สิ่งเหล่านี้ปรากฏขึ้นเป็นพฤติกรรม หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นวัฒนธรรมขององค์กรเพราะเมื่อครั้งที่ตน ดำรงตำแหน่งที่เกี่ยวกับศาลและ ป.ป.ช. พบว่า มีนายจำนวนมาก ที่ถือตนว่า ตนเป็นนายแล้วลูกน้องจะโต้เถียงไม่ได้เลย ดังนั้นจึงปรากฏสิ่งที่เป็นคดีความตลอดเวลาว่า ลูกน้องฆ่านาย นายทำร้ายลูกน้อง ลองคิดดูเหมาะสมกับการปฏิรูปหรือไม่

พ.ต.ต.ชวลิต อภิปรายว่า ตนขอให้ตัดออกเพราะไม่มีเหตุผลความจำเป็นใด ๆ เลย ที่จะให้อำนาจผู้บังคับบัญชาให้อาวุธกับผู้ใต้บังคับบัญชา การละทิ้งหน้าที่จนเป็นเหตุให้เสียหาย แก่ราชการ มีความผิดวินัยร้ายแรง ตามมาตรา 104 วงเล็บสามอยู่แล้ว ซึ่งมีโทษปลดออก ไล่ออก มีมาตรา 106 รังแต่จะทำให้การบังคับบัญชาและการบริหารงานแย่ลง ยกตัวอย่าง ตำรวจคอมมานโด ที่ต้องสู้กับคนร้ายที่มีปืน ถ้าลูกน้องหน้างานประเมินแล้วว่าเสี่ยงจริง ๆ เข้าไปไม่ได้ หัวหน้าต้องเชื่อใจลูกน้อง ไม่ใช่สั่งให้เขาไปตาย เหตุการณ์แบบนี้ ไม่ใช่เอาอาวุธไปจี้ลูกน้องเสียเองให้เขาทำตามคำสั่ง การที่มีอำนาจเช่นนี้ ไปกดดันลูกน้องมาก เกิดลูกน้องยิงสวนใส่หัวหน้าขึ้นมาจะทำอย่างไร มาตรานี้ไม่เป็นประโยชน์ต่องานตำรวจไหน ๆ เลย ต้องตัดออกสถานเดียว มีไว้ก็เป็นสิ่งที่บ่งชี้ที่แสดงความป่าเถื่อน

พ.ต.ต.ชวลิต เลาหอุดมพันธ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่าไม่มีเหตุผลความจำเป็นใด ๆ เลย ที่จะให้อำนาจผู้บังคับบัญชาให้อาวุธกับผู้ใต้บังคับบัญชา การละทิ้งหน้าที่จนเป็นเหตุให้เสียหาย แก่ราชการ มีความผิดวินัยร้ายแรง ตามมาตรา 104 วงเล็บสามอยู่แล้ว ซึ่งมีโทษปลดออก ไล่ออก มีมาตรา 106 รังแต่จะทำให้การบังคับบัญชาและการบริหารงานแย่ลง ยกตัวอย่าง ตำรวจคอมมานโด ที่ต้องสู้กับคนร้ายที่มีปืน ถ้าลูกน้องหน้างานประเมินแล้วว่าเสี่ยงจริง ๆ เข้าไปไม่ได้ หัวหน้าต้องเชื่อใจลูกน้อง ไม่ใช่สั่งให้เขาไปตาย เหตุการณ์แบบนี้ ไม่ใช่เอาอาวุธไปจี้ลูกน้องเสียเองให้เขาทำตามคำสั่ง การที่มีอำนาจเช่นนี้ ไปกดดันลูกน้องมาก เกิดลูกน้องยิงสวนใส่หัวหน้าขึ้นมาจะทำอย่างไร มาตรานี้ไม่เป็นประโยชน์ต่องานตำรวจไหน ๆ เลย ต้องตัดออกสถานเดียว มีไว้ก็เป็นสิ่งที่บ่งชี้ที่แสดงความป่าเถื่อน

ส่วนพล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน ส.ว.ในฐานะ กมธ.วิสามัญฯ กล่าวว่า ตนคิดว่าคนในที่ประชุมแห่งนี้ไม่มีใครอายุมากกว่าบทบัญญัตินี้ซึ่งพ.ศ.2476 กฎหมายวินัยทหารมาตรานี้เกิด จากนั้น พ.ศ. 2477 กฎหมายวินัยตำรวจมาตรานี้เกิด ทหารและตำรวจถือเป็นกองกำลังที่ต้องใช้อาวุธ ต้องมีวินัยอย่างเด็ดขาด ตนไม่แปลกใจที่สมาชิกฯ จะเห็นว่ามาตรานี้มีความดุ เด็ด เผ็ด ร้อนเกินไป แต่ในบทบัญญัติมีคำว่าจำเป็น คำว่าโดยสุจริต และคำว่าสมควรแก่เหตุ

ตนขอพาท่านไปเที่ยวโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ตนเรียนที่นั่น 4 ปี เรียนหลักสูตรอบรม 4 เดือน เดือนละหลักสูตร โดยปีที่หนึ่งเขาฝึกคนออกมาทำงานให้เป็นคนที่รับคำสั่ง ปฏิบัติตามคำสั่งโดยเคร่งครัด ค่อนข้างจะวันเวย์แต่ไม่วันเวย์เสียทีเดียว เพราะคุณต้องเชื่อฟังคำสั่งผู้บังคับบัญชา บอกให้หยุดต้องหยุด บอกให้ยิงต้องยิง บอกให้หมอบต้องหมอบ อย่าเพิ่งเถียงอะไรมาก เมื่อขึ้นปีสองถูกสอนให้คิดเป็น ออกคำสั่งเป็น ออกคำสั่งให้ถูก และมีเหตุผล เมื่อขึ้นปีสาม ต้องสร้างคนให้มีวินัยในตัวเอง และเมื่อขึ้นปีสี่ คือไม่ต้องให้ใครมาตรวจสอบ ให้ดูแลตัวเองอยู่กับร่องกับรอย อย่าออกคำสั่งผิดเพี้ยน ซึ่งทั้งสี่เรื่องถูกนำมาอยู่ในมาตรานี้ 90ปีแล้วที่กฎหมายนี้มีมา ซึ่ง พ.ร.บ.ตำรวจ แต่ละฉบับก็ลอกมาตรานี้มาตลอด อาจจะบอกว่าล้าสมัย แต่ถามกลับไปว่าหากเก่าแก่ไม่ดีจริงจะอยู่มาได้อย่างไร แล้วจำเป็นอย่างไร

“เช่นเหตุการณ์เมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีต ผบ.ตร. นำกำลังเข้าไปแก้สถานการณ์เหตุการณ์ฉุกเฉินในห้างเทอมินอล 21 โคราช ผู้ที่ก่อเหตุเป็นระดับมือปืน มีอาวุธสงครามในมือ ก่อนเข้าไปในห้างยิงคนตายมาเป็นรายทาง จึงต้องนำกำลังเข้าไป กำลังที่เข้าไปนั้นทุกคนมีลูกมีเมีย คิดถึงลูกเมียหมด เข้าไปรู้ความเสี่ยงในอนาคต ทุกคนทิ้งอาวุธหมด เหลือ ผบ.จักรทิพย์ คนเดียวเข้าไปแก้สถานการณ์ นั่นคือเหตุผลและความจำเป็นที่จะต้องมีมาตรานี้เข้ามา แต่ไม่ใช่ว่าจะสร้างความแตกแยก สร้างความดุดันให้ผู้บังคับบัญชา มันอยู่ภายใต้กฎหมายที่สมควรแก่เหตุ หากเกินแก่เหตุก็ติดคุกอยู่ดี มาตรานี้จึงนำสิ่งที่ผมเรียนมา 4 ปี มาใส่ในมาตรานี้เป็นยอดคาถาของวินัย” พล.ต.ท.อำนวย กล่าว.