เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ที่ กรมอนามัย นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข เป็นประธานการลงนามประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันระหว่าง 8 หน่วยงาน กรมอนามัย และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมการปกครอง กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เครือข่ายลดบริโภคเค็ม สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย สมาคมเชฟแห่งประเทศไทย สมาคมร้านอาหารไทยและสตรีทฟู้ด และสมาคมการค้าธุรกิจ เรื่อง “กินเค็มพอดี ต้องมีไอโอดีน” เนื่องในวันไอโอดีนแห่งชาติ วันที่ 25 มิ.ย.ของทุกปี

นายสาธิต กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการควบคุมและป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนแห่งชาติครั้งที่ 1/2565 ที่ผ่านมา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานคำชี้แนะให้มีการขับเคลื่อนให้เกิดชุมชน/หมู่บ้านไอโอดีนครอบคลุมทั่วประเทศ ภายในปี 2570 ผ่านแพลทฟอร์มไอโอดีน ซึ่งปัจจุบันดำเนินการแล้ว 23,911 แห่ง แบ่งเป็นระดับเหรียญทอง 8,583 แห่ง ระดับเหรียญเงิน 4,819 แห่ง และระดับเหรียญทองแดง 10,509 แห่ง อย่างไรก็ตามในปีนี้แนวทางยังเน้นการรณรงค์สื่อสารให้ประชาชนมีความรู้สู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบริโภคที่เหมาะสม โดยใช้เกลือและผลิตภัณฑ์ปรุงรสเสริมไอโอดีนที่เพียงพอ และกินโซเดียมไม่ควรเกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน เทียบเท่าเกลือปรุงอาหารไม่เกิน 1 ช้อนชา หรือน้ำปลาไม่เกิน 4 ช้อนชาต่อวัน

“ร้านอาหารเป็นหน่วยเล็กที่เข้าถึงประชาชนได้ง่ายที่สุด แม้ไม่มีกฎหมายบังคับแต่ก็ได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการเป็นอย่างดีในการใช้เครื่องปรุงที่มีส่วนผสมของไอโอดีน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงไอโอดีน และได้ลดเค็มไปได้ด้วย จึงขอความร่วมมือตรงนี้” นายสาธิต กล่าว และว่า จากผลสำรวจปี 2564 พบว่า คนไทยกินโซเดียมสูงถึง 3,636 มิลลิกรัมต่อวัน สูงกว่าค่าที่องค์การอนามัยโลกแนะนำเกือบ 2 เท่า อีกทั้งยังมีพฤติกรรมการเติมเกลือ น้ำปลา หรือซอสปรุงรสใส่ลงบนอาหารโดยตรง เสี่ยงได้รับโซเดียมเกินความต้องการในแต่ละวัน

ด้าน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการด้านการควบคุมและป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนแห่งชาติ ปี 2565 – 2570 ทำให้สถานการณ์ของโรคขาดสารไอโอดีนในในภาพรวมของประเทศไทยดีขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ มีค่ามัธยฐานไอโอดีนในปัสสาวะภาพรวมของประเทศปี 2564 เท่ากับ 155 ไมโครกรัมต่อลิตร บรรลุตามค่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ สำหรับความครอบคลุมการใช้เกลือเสริมไอโอดีนในครัวเรือนดีขึ้นจากปี 2563 ที่มีการใช้ 80.2% เพิ่มเป็น 84.2% ในปี 2564 แต่ยังไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ที่กำหนดไว้ไม่น้อยกว่า 90% จึงจำเป็นต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ และให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ส่งเสริมให้ประชาชนปรุงประกอบอาหารด้วยผลิตภัณฑ์เสริมไอโอดีน เพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชน

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า สำหรับพื้นที่ที่ยังพบขาดสารไอโอดีน คือ 1.ปัญหาการเข้าถึงเกลือไอโอดีนทางกายภาพ เป็นพื้นที่ภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ปัจจุบันดีขึ้นตามลำดับ และ 2.ความเชื่อ คือพื้นที่ภาคใต้ที่เชื่อว่าอยู่ติดทะเลแล้วจะไม่ขาดเกลือเสริมไอโอดีน แต่จริงๆ แล้วยังพบว่าประชาชนยังขาดไอโอดีนอยู่ ดังนั้นต้องเชิงรุกเข้าไปสร้างทัศนคติที่ดีในการบริโภคเกลือเสริมไอโอดีน ขณะที่ ผลการดำเนินการหมู่บ้านไอโอดีน พบว่าระดับไอคิวของเด็กในพื้นที่ดีขึ้น ซึ่งเกิดจากหลายปัจจัยรวมถึงการเสริมไอโอดีนในอาหารด้วย ปัญหาโรคคอพอกเริ่มหายไปแล้ว แต่ปัญหาขาดไอโอดีนก็ยังมีส่วนที่มองไม่เห็นคือ ผลต่อการพัฒนาการสมองและการเจริญเติบโต ที่ต้องอาศัยการติดตามระยะยาว ซึ่งช่องทางการรับไอโอดีนมีทั้งจากเกลือ หรือเครื่องปรุงเสริมไอโอดีน เครื่องดื่ม ไข่ที่มาจากไก่ที่ผ่านการเลี้ยงด้วยการให้ไอโอดีน ผักไอโอดีน เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากข้อมูลผลการศึกษาความคลอบคลุมการกินเกลือไอโอดีนในครัวเรือนเป้าหมายผ่านมาตรฐานไม่น้อยกว่า 90 % ในปี 2564 มีเพียง 25 จังหวัดที่ผ่านมาตรฐาน แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน นครสวรรค์ ชัยนาท ชัยภูมิ นครราชสีมา กาฬสินธุ์ มหาสารคาม สุรินทร์ ชลบุรี เพชรบุรี ชุมพร ระนอง สุราษฎรธานี พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล และสงขลา ส่วนพื้นที่ที่มีความครอบคลุมการกินเกลือไอโอดีนในครอบครัวต่ำกว่าเป้าหมายพบมากในจังหวัดทางภาคอีสาน.