เมื่อเวลา 18.40 น. วันที่ 24 มิ.ย. ที่ลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) จากการจัดกิจกรรมนัดหมายฉลองวันชาติ เนื่องด้วยเป็นวันครบรอบ 90 ปี อภิวัฒน์สยาม จากกรณีในวันที่ 24 มิถุนายนของทุกปี จะเป็นวันครบรอบวันเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ หลายกลุ่มเครือข่ายนักกิจกรรม อาทิ แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม กลุ่มคณะราษฎร กลุ่มทะลุฟ้า กลุ่มนักเรียนเลว กลุ่ม We Volunteer เป็นต้น ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมและจัดบูธขายสินค้า รวมไปถึงตั้งจุดร่วมลงชื่อสนับสนุนแก้ไขในเรื่องเรียกร้องต่างๆ ตามที่ได้มีการรายงานข่าวไปแล้วนั้น

สำหรับวงเวทีเสวนาการเมืองเรื่องรัฐธรรมนูญกับกฎหมายนั้นมี นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ (เป๋า ไอลอว์) ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) หรือ ไอลอว์ เป็นพิธีกรดำเนินกิจกรรม โดยมีแขกรับเชิญร่วมถกเถียงและพูดคุย ประกอบด้วย 1.นายปกป้อง-ชานันท์ ยอดหงษ์ ผู้เขียนหนังสือ ‘นายใน’ และ ‘หลังบ้านคณะราษฎร’ 2.นายจอห์น-วิญญู วงศ์สุรวัฒน์ พิธีกรชื่อดัง 3.นายฐา-ณัชปกร นามเมือง ตัวแทนโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) และ 4.นางจิ๋ว-จีรนุช เปรมชัยพร เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ

ประเด็นแรกเริ่มด้วยการพูดคุยเรื่อง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม กับ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่เพิ่งผ่านวาระแรกในสภาไปเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยนายปกป้อง-ชานันท์ ยอดหงษ์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ของพรรคก้าวไกล และพ.ร.บ.คู่ชีวิตนั้น แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ซึ่งการที่ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม จะเป็น พ.ร.บ.หลัก และผ่านไปทั้งสามวาระ ตนคิดว่ามีโอกาส ถ้าพลังภาคประชาชนมีความเข้มแข็ง และเหนียวแน่นในอุดมการณ์ว่าต้องการสมรสเท่าเทียมก็จะช่วยกดดันฟากรัฐบาลได้ ส่วนกระบวนการในวาระสอง จะใช้เวลานานแค่ไหนนั้น ตนบไม่แน่ใจว่าใช้ระยะเวลานานแค่ไหน ด้วยความที่มีหลายมาตราด้วย ก็ต้องมาคุยกัน แต่มั่นใจว่า พ.ร.บ.ร่างสมรสเท่าเทียมของก้าวไกลค่อนข้างครอบคลุมและใช้ได้จริง ถ้าเทียบกับ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่ผ่านวาระแรกคู่กันมา ถึงแม้เนื้อหาสาระ เขาจะอ้างว่าเหมือนกัน แต่ถ้าไปดู มันต่างกันในเรื่องสิทธิและสวัสดิการ

ด้านจิ๋ว-จีรนุช เปรมชัยพร เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ กล่าวถึงสาเหตุ ทำไมสภาถึงมีการรับหลักการทั้ง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม พ.ร.บ.คู่ชีวิต พร้อมกันได้ ว่า ตนก็ตอบไม่ได้เหมือนกัน ค่อนข้างเซอร์ไพร้ส์ ถึงแม้จะผ่านการลุ้นวาระแรกไปแล้ว แต่ก็ต้องไปลุ้นในวาระสอง และวาระสามอีก ซึ่งต้องไปดูว่าในวาระถัดไปดังกล่าวจะเป็นอย่างไร แต่ตนไม่สามารถไว้ใจได้จริงๆ

ขณะที่ จอห์น-วิญญู ระบุว่า ตอนนั้นตนคิดว่าผ่านวาระรับหลักการ ก็เพราะไม่รู้ว่าพวกเขาจะค้านทำไม เพราะชัดเจนว่ามันทำให้คนเท่าเทียมกัน ตนคิดว่าตัวเองตัดสินใจถูกว่ามันจะผ่านในวาระแรก แต่ในฐานะที่เป็นประชาชนภายใต้รัฐบาลนี้มายาวนาน ก็ยอมรับว่าไว้ใจไม่ได้ ต้องติดตามกันต่อไป

จากนั้นเป็นประเด็นการพูดคุยถึงปัญหาของเนื้อหาใน พ.ร.บ.จริยธรรมสื่อ หรือ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. …. โดย จิ๋ว-จีรนุช กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยตั้งแต่ที่ร่างออกมา จริงๆมันอยู่บนหลักการหรือการอ้างเหตุผลที่ดี แต่ความจริงคือเป็นการกำกับสื่อ ซึ่งขัดกับหลักการที่สื่อต้องเป็นอิสระและไม่ถูกกำกับโดยรัฐ และความเป็นสื่อไม่ใช่แค่อาชีพ แต่เป็นสิทธิในการสื่อสารของคนทั่วไป

จอห์น-วิญญู ระบุว่า พ.ร.บ.จริยธรรมสื่อ หากมองในแง่ดีคือเหลือเวลาอยู่ไม่มาก ทำให้ร่าง พ.ร.บ.นี้เข้าถึงสภาไม่ทันแต่หากมาเร็วกว่านี้อาจกลายเป็นมรดกของเผด็จการและทำให้สื่อทำงานลำบากมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีสื่ออิสระเกิดขึ้นอย่างมากมาย ถือเป็นเรื่องที่ดีมากๆ และตนมองว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้อาจครอบคลุมมาถึงสื่ออิสระได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งมันก็น่าเป็นห่วง เพราะประชาชนควรเข้าถึงข่าวสารได้อย่างเต็มที่ และสื่อควรทำงานได้อย่างเต็มที่เช่นกัน ตนจึงมองว่ามันมาในช่วงท้ายๆ อาจจะไม่ผ่านไปได้ง่ายขนาดนั้น แต่ก็เอาแน่เอานอนไม่ได้คงต้องจับตาดูดีๆ

ถัดมาเป็นประเด็นในกรณีของร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่ม โดย จิ๋ว-จีรนุช ระบุว่า ตนจะไม่ให้ร่าง พ.ร.บ.นี้เข้าสภาอย่างแน่นอน และหวังว่าการต่อสู้ที่กำลังดำเนินไป เราก็สู้ว่าทำอย่างไรให้ ครม.ยกเลิกมติและนายกรัฐมนตรีจะต้องล้มเลิกความคิดที่จะผ่านตัวกฎหมายนี้ในยุคของเขาให้ได้

ความน่ากลัวของร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่มนั้น จิ๋ว-จีรนุช ระบุว่า รัฐกำลังพยายามควบคุมองค์กรต่าง ๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ NGO แต่การควบคุมมันไปมากกว่าองค์กรเอ็นจีโอ เพราะเป็นการควบคุมสิทธิในการรวมกลุ่มมากกว่า การทำกิจกรรม 1 คนไม่เป็นไร แต่ถ้ารวมกลุ่มตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปก็คือไม่รอด รวมถึงถ้าเป็นการทำประโยชน์ในเชิงกิจกรรมสังคม ซึ่งมันกว้างมาก ด้วยการกำหนดนิยามที่ว่า “องค์กรไม่แสวงผลกำไร” ตัวนิยามนี้ก็กว้างมาก ซึ่งถ้าทำกิจกรรมครั้งเดียว อย่างการจัดกิจกรรมวิ่งมาราธอนปีละครั้ง แบบนั้นไม่เป็นไร เพราะเป็นเฉพาะคราว แต่ถ้าเป็นกลุ่มพวกเราที่ทำงานต่อเนื่อง คำนิยามที่มันกว้าง มันส่งผลต่ออำนาจที่จะมาควบคุม แล้วอำนาจนี้ มันก็ใช้อ้างเรื่องความโปร่งใสอย่างไรก็ตาม มันส่งผลต่อการปิดกั้นเสรีภาพในประเทศไทย

สำหรับประเด็นสุดท้าย การแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายฐา-ณัชปกร ระบุว่า การยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาจากภาคประชาชนถูกยื่นไป 3 ครั้งแล้ว และล่าสุดคือครั้งที่ 4 ที่อาจจะเข้าสู่การพิจารณาในสัปดาห์หน้า เน้นแก้เรื่องสิทธิเสรีภาพสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม และนายกรัฐมนตรีต้องมากจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก่อน แต่สิ่งที่เราควรให้ความสนใจเป็นอย่างมากคือการยกเลิกมาตรา 272 ที่ให้มีการเลือกนายกรัฐมนตรีที่มาจากคนนอก และการที่ให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มีสิทธิเลือกนายก ถ้าเราแก้มาตรานี้ได้ นายกรัฐมนตรีก็จะมาจากเสียงของประชาชนอย่างแท้จริง