เมื่อเวลา 19.00 น. วันที่ 24 มิ.ย. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมและกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมระดับสูงว่าด้วยการพัฒนาของโลก กรอบความร่วมมือ BRICS Plus (BRICS Plus High-Level Dialogue on Global Development) ครั้งที่ 14 ผ่านระบบการประชุมทางไกล ภายใต้หัวข้อหลัก “สร้างเสริมความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาในศักราชใหม่เพื่อร่วมอนุวัติวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030” (Foster a Global Development Partnership for the New Era to Jointly Implement the 2030 Agenda for Sustainable Development)

โดยมีผู้นำประเทศที่เข้าร่วมจำนวน 18 ประเทศ ได้แก่ ผู้นำกลุ่มประเทศ BRICS 5 ประเทศ และผู้นำประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา (Emerging Markets and Developing Countries: EMDCs) 13 ประเทศ ได้แก่ แอลจีเรีย อาร์เจนตินา อียิปต์ อินโดนีเซีย คาซัคสถาน เซเนกัล อิหร่าน อุซเบกิสถาน กัมพูชา เอธิโอเปีย ฟิจิ มาเลเซีย และไทย ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้รับเชิญในโอกาสที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค 2565

นายกรัฐมนตรี กล่าวถ้อยแถลงว่า ยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุม BRICS Plus อีกครั้งหนึ่งในปีนี้ โดยชื่นชมจีนที่ได้สานต่อข้อริเริ่ม BRICS Plus และมุ่งร่วมมือกับกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาในช่วงเวลาแห่งความยากลำบาก ที่หลายประเทศประสบปัญหาความเหลื่อมล้ำในการฟื้นตัวจากโควิด-19 และต้องเผชิญกับความไม่มั่นคงทางอาหาร วิกฤติสภาพภูมิอากาศ ภาวะเงินเฟ้อ และปัญหาพลังงาน น้ำมัน ปุ๋ย สินค้าอุปโภคบริโภคราคาแพง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า โลกของเรากำลังเผชิญกับ “วิกฤติซ้อนวิกฤติ” ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศกำลังพัฒนา เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องร่วมมือกันเพื่อฝ่าฝันวิกฤติเหล่านี้ โดยมุ่งพลิกฟื้นระบบพหุภาคีให้เข้มแข็ง สมดุล และเป็นธรรมยิ่งขึ้น

นายกรัฐมนตรีได้แบ่งปัน 3 แนวคิดสำคัญที่เชื่อว่าจะช่วยให้สามารถร่วมมือกันอย่างสร้างสรรค์เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพ ที่ตั้งอยู่บนกฎกติกา และเคารพหลักธรรมาภิบาล ดังนี้

  1. การพลิกฟื้นระบบพหุภาคีให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น เพื่อรับมือกับความท้าทายอุบัติใหม่ในปัจจุบันและอนาคต ทุกประเทศต้องหลีกเลี่ยงการจำกัดการส่งออกอาหารที่ไม่สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ขององค์การการค้าโลก ไทยในฐานะประเทศผู้ผลิตและส่งออกอาหารรายใหญ่ของโลก มุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการเคลื่อนย้ายขนส่งอาหารและสินค้าจำเป็นอย่างไร้รอยต่อ เพื่อให้ความช่วยเหลือประเทศที่ประสบปัญหา ซึ่งต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานและเชื่อมโยงกันในทุกมิติ โดยไทยพร้อมที่จะทำงานร่วมกันกับกลุ่มประเทศ BRICS ผ่านกลไก ACMECS อาเซียน และข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง เพิ่มสัดส่วนการลงทุน พัฒนาเทคโนโลยีแห่งอนาคต และเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล คมนาคม และพลังงานข้ามพรมแดน
  2. ระบบพหุภาคีต้องมีความสมดุลในทุกมิติ ร่วมมือกันผลักดันให้มีการปฏิรูประบบพหุภาคีและปรับกระบวนทัศน์ใหม่ ไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาระดับโลกในการบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 โดยไทยมุ่งผลักดันการเจริญเติบโตหลังโควิด-19 สู่สมดุลมากขึ้น ปรับความคิดและพฤติกรรมดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบ เปลี่ยนของเสียให้เป็นทรัพยากร และลงทุนด้านการเปลี่ยนผ่านสู่ยานยนต์ไฟฟ้าปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ สะท้อนว่า การที่ไทยหันเข้าหาโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวสู่ “ความสมดุลของสรรพสิ่ง” เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนและครอบคลุม มีองค์ประกอบร่วมกันกับข้อริเริ่มว่าด้วยการพัฒนาระดับโลกของจีนในหลายแง่มุม ทั้งไทยและจีนล้วนมีเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองที่มีคนเป็นศูนย์กลาง รับมือกับความเหลื่อมล้ำ และรักษาสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ โดยนายกรัฐมนตรีมุ่งหวังว่า การมีค่านิยมร่วมกันเรื่องความเปิดกว้าง และครอบคลุมจะช่วยเกื้อกูลความร่วมมือใต้-ใต้ และไตรภาคีมากยิ่งขึ้น เพื่อความก้าวหน้าในการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด และการพัฒนาทักษะเตรียมความพร้อมสู่อนาคตสีเขียว โดยไทยในฐานะประเทศผู้ประสานงานของอาเซียนในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน มุ่งมั่นที่จะแสดงบทบาทที่สร้างสรรค์ เพื่อสานต่อกิจกรรมต่าง ๆ ในปีแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืนอาเซียน-จีน พ.ศ. 2564-2565
  3. ระบบพหุภาคีจำเป็นต้องสร้างระบบธรรมาภิบาลเศรษฐกิจโลกที่เป็นธรรม ไม่แตกแยก และส่งเสริมความร่วมมือที่เป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่ายโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งเหตุการณ์ที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายปีเพื่อสกัดภาวะเงินเฟ้อในประเทศพัฒนาแล้วสามารถสร้างความเสียหาย ในวงกว้างต่อเศรษฐกิจทั่วโลก และเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยและวิกฤติหนี้สาธารณะ ดังนั้น ไทยจึงขอเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันการเงินระหว่างประเทศ เพื่อให้ประเทศกำลังพัฒนามีส่วนกำหนดนโยบายเศรษฐกิจมหภาคมากขึ้น พร้อมขอชื่นชมกลุ่ม BRICS ที่มีบทบาทจัดตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งใหม่ ซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของประเทศกำลังพัฒนา ขณะเดียวกัน วิกฤตินี้เป็นโอกาสให้ทบทวนว่า จะพึ่งพาตนเองมากขึ้นได้อย่างไรในอนาคต

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไทยยินดีสนับสนุนข้อริเริ่มของจีนให้มีการพัฒนากรอบความร่วมมือ BRICS Plus ระหว่างกลุ่มประเทศ BRICS กับประเทศ EMDCs อย่างเป็นทางการ เพื่อกระชับความร่วมมือเพื่อการพัฒนา ลดความขัดแย้งระหว่างกัน และในฐานะเจ้าภาพ APEC และประธาน BIMSTEC ไทยพร้อมทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมความร่วมมือระหว่างกันจากมหาสมุทรอินเดียไปสู่มหาสมุทรแปซิฟิกเพื่อความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน.