“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” รายงานเงินบาทสัปดาห์ที่ผ่านมาร่วงแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 5 ปีครึ่งที่ 35.57 บาทต่อดอลลาร์ โดยเงินบาทอ่อนค่าลงเป็นสัปดาห์ที่ 4 ติดต่อกันท่ามกลางแรงกดดันด้านอ่อนค่าจากการคาดการณ์ว่า แม้วัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นของไทยใกล้จะเริ่มขึ้น แต่จังหวะการปรับขึ้นดอกเบี้ยของไทยก็จะยังคงตามหลังการปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐอยู่พอสมควร

นอกจากนี้เงินบาทยังมีปัจจัยลบเพิ่มเติมจากสถานะขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ และน่าจะมีแรงซื้อเงินดอลลาร์ ที่มาจากฝั่งผู้นำเข้าในช่วงใกล้สิ้นไตรมาสด้วยเช่นกัน

เงินบาทอ่อนค่าลงเกือบตลอดสัปดาห์ แม้เงินดอลลาร์ จะเผชิญแรงขายจากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย หลังประธานเฟดยืนยันต่อสภาคองเกรสว่า เฟดมุ่งมั่นที่จะจัดการกับปัญหาเงินเฟ้ออย่างไม่มีเงื่อนไขเพื่อให้เงินเฟ้อสหรัฐ กลับเข้าสู่เป้าหมายที่ 2% แต่ก็ยอมรับว่า การเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐ และทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะถดถอย

ในวันศุกร์ที่ 24 มิ.ย. 2565 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 35.48 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับ 35.23 บาทต่อดอลลาร์ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (17 มิ.ย.) ขณะที่ระหว่างวันที่ 20-24 มิ.ย. นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 11,011 ล้านบาท ขณะที่มีสถานะเป็น NET OUTFLOW ออกจากตลาดพันธบัตร 11,271 ล้านบาท (เป็นการหมดอายุของตราสารหนี้ 7,979 ล้านบาท และขายสุทธิพันธบัตร 3,292 ล้านบาท) รวมแล้วต่างชาติขายสุทธิกว่า 22,282 ล้านบาท

สัปดาห์ถัดไป (27 มิ.ย.-1 ก.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ระดับ 35.25-35.85 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สัญญาณไหลออกของเงินทุนต่างชาติ และรายงานเศรษฐกิจการเงินเดือน พ.ค. ของไทย

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ดัชนี ISM/PMI ภาคการผลิตเดือน มิ.ย. ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขายเดือน พ.ค. ดัชนีราคาบ้านเดือน เม.ย. รายได้/รายจ่ายส่วนบุคคล และอัตราเงินเฟ้อจาก PCE/Core PCE Price Index เดือน พ.ค. จีดีพีไตรมาส 1/65 และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามข้อมูลกำไรภาคอุตสาหกรรมเดือน พ.ค. อัตราเงินเฟ้อเดือน มิ.ย. ของยูโรโซน และดัชนี PMI เดือน มิ.ย. ของจีนด้วยเช่นกัน