เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. กรุงเทพโพลล์ โดยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ สำรวจความเห็นประชาชนเรื่อง “ความเดือดร้อนของประชาชน ต่อการใช้บริการรถเมล์ไทย” โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ใช้บริการรถเมล์ จำนวน 1,151 คน เมื่อวันที่ 17-21 มิ.ย. ที่ผ่านมา พบว่าปัญหาที่ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 89.2 พบจากการใช้บริการรถเมล์ในปัจจุบัน คือ รถขาดระยะ ต้องรอรถนาน รองลงมาร้อยละ 44.4 คือ รถแน่น/ขึ้นไม่ทัน โดยเฉพาะชั่วโมงเร่งด่วน และร้อยละ 35.5 คือ รถเก่า/ชำรุด/รถสกปรก

ทั้งนี้ผลกระทบที่ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 75.4 ได้รับจากปัญหา รถเมล์ขาดระยะ ลดเที่ยววิ่ง และยกเลิกสายรถเมล์บางเส้นทาง คือ ไปเรียน/ทำงานสาย/ถึงที่หมายช้ากว่ากำหนด รองลงมาร้อยละ 61.4 คือ ต้องใช้บริการขนส่งทางอื่น ทำให้เพิ่มภาระค่าใช้จ่าย และร้อยละ 37.3 คือ ต้องต่อรถเมล์หลายสาย จากเดิมที่นั่งสายเดียวถึง เมื่อถามว่า “มั่นใจหรือไม่ว่า ขสมก. จะสามารถแก้ปัญหาการให้บริการรถเมล์ที่เกิดขึ้นภายใน 15 วัน ได้” ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 77.3 ระบุว่า ไม่ค่อยมั่นใจถึงไม่มั่นใจเลย ขณะที่ร้อยละ 22.7 ระบุว่า ค่อนข้างมั่นใจถึงมั่นใจ

ส่วนสิ่งที่อยากฝากถามผู้บริหาร ขสมก. และส่วนงานที่เกี่ยวข้องในการให้บริการรถเมล์แก่ประชาชนมากที่สุด ร้อยละ 56.9 คือ มีรถเมล์ให้บริการครอบคลุมทุกเส้นทางได้หรือไม่ เพื่อคำนึงถึงผู้มีรายได้น้อย รองลงมาร้อยละ 53.2 คือ ทำไมรถเมล์ถึงมีให้บริการน้อย และร้อยละ 51.0 คือ ประชาชนจะได้รับผลกระทบจากปัญหารถเมล์ขาดระยะ ลดเที่ยววิ่ง และยกเลิกสายรถเมล์บางเส้นทางนานแค่ไหน