เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ พ.ศ. 2566 เปิดเผยว่าขณะนี้มีข้อผิดสังเกตหลายประการ อาจส่อถึงการทำทุจริตในหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ 1. กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่มีนายวราวุธ ศิลปอาชา เป็น รมว.ทรัพยากรฯ มีการโอนงบประมาณที่ได้รับจัดสรรไปในปีก่อนๆ ตั้งแต่ปี 63-65 รวม 46 รายการ เป็นเงินงบประมาณ 1,143 ล้านบาท ไปให้กับหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็น รมว.กลาโหม โดยอ้างว่าทหารมีเครื่องไม้เครื่องมือเพียบพร้อมกว่ากรมทรัพยากรน้ำเอง จึงเป็นข้ออ้างที่ผิดวิสัยมากว่าหน่วยงานทหารจะมีอุปกรณ์เพียบพร้อมกว่ากรมทรัพยากรน้ำซึ่งมีหน้าที่เฉพาะอย่างไร ต่อมายังปรากฏหลักฐานว่า ทหารไม่สามารถดำเนินโครงการต่างๆ ได้แล้วเสร็จอย่างครบถ้วน โดยดำเนินการแล้วเสร็จไปได้เพียง 35 โครงการจาก 46 โครงการเท่านั้น ขัดกับข้ออ้างของหน่วยงานที่อ้างว่าทหารมีความพร้อมมากกว่า

นอกจากนี้มีข้าราชการน้ำดีได้แอบกระซิบและส่งข้อมูลมาให้ว่า เมื่อทหารได้รับโอนงบประมาณดังกล่าวไปแล้ว ได้โยกย้ายถ่ายเทนำไปลงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เนื่องจากมีกฎหมายพิเศษและสามารถจัดซื้อจัดจ้างได้ด้วยวิธีพิเศษ ส่อไปในทางทุจริต จึงได้ขอเรียกเอกสารพยานหลักฐานดังกล่าวต่อกรมทรัพยากรน้ำในฐานะกรรมาธิการฯ เพื่อนำมาตรวจสอบต่อไป

นพ.วาโยกล่าวว่า 2. การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กระทรวงคมนาคม ซึ่งมีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เป็น รมว.คมนาคม มีการให้สัมปทานแก่บริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ในด้านการขายโฆษณา ทั้งบนรถไฟฟ้าและรวมถึงพื้นที่ต่าง ๆ ในสถานี ซึ่งสามารถหารายได้ได้อย่างมหาศาล แต่รฟม.กลับทำสัญญาเรียกรับส่วนแบ่งจากเงินรายได้เพียง 7% เท่านั้น โดยในปี 64 ส่วนแบ่ง 7% ปรากฏในงบการเงินเพียง 18 ล้านบาทเศษเท่านั้น เมื่อคำนวณไปกลับต่างๆ แล้วหมายความว่าเอกชนมีรายได้จากการขายโฆษณาเพียง 20 กว่าล้านบาทต่อเดือนเท่านั้น ขัดกับราคาขายซึ่งปรากฏอยู่ทั่วไปในอินเทอร์เน็ต โดยจะขอเรียกเอกสารสัญญาทั้งหมดที่รฟม.ทำกับเอกชนรายนี้เพื่อนำมาตรวจสอบต่อไป

3. กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนายประภัตร โพธสุธน เป็น รมช.เกษตรฯ กำกับดูแล ปรากฏข้อผิดสังเกตอย่างมาก คือ งบประมาณแต่ละปีซึ่งแต่เดิมได้รับจัดสรรอยู่ประมาณพันกว่าล้านบาท โดยในปี 65 ได้รับจัดสรรไป 2 พันล้านบาท แต่ในปีงบประมาณ 66 กลับเพิ่มขึ้นไปถึง 15,000 ล้านบาท รวมเป็นงบประมาณถึง 17,000 ล้านบาท เป็นการผิดวิสัยอย่างยิ่งของการจัดสรรงบประมาณแผ่นดิน

“เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่า งบประมาณที่ถูกจัดสรรเพิ่มเติมมาเป็นในส่วนของโครงการสนับสนุนลดต้นทุนการผลิตด้านการเกษตรฯ เพียงโครงการเดียว ซึ่งเป็นโครงการใหม่ โดยอาจมีความคล้ายคลึงกับโครงการเกษตรแปลงใหญ่ เมื่อถามหาถึงบทวิเคราะห์คาดการณ์ผลประโยชน์และผลสัมฤทธิ์ กลับไม่ปรากฏคำตอบหรือพยานหลักฐานใดๆ ที่หนักแน่นเพียงพอ แต่กลับพบข้อน่ากังวลว่า โครงการดังกล่าวซึ่งมีการกระจายเงินลงไปกว่า 5,000 จุดทั่วประเทศ จุดละ 3 ล้านบาท หากมองผิวเผินอาจเห็นเป็นเพียงเบี้ยหัวแตก แต่ทว่าโครงการนี้ได้จัดให้มี ‘แคตตาล็อก’ ให้แต่ละจุดเลือกซื้อของจากแคตตาล็อกซึ่งถูกกำหนดไว้ก่อนแล้ว ทำให้น่าสงสัยอย่างยิ่งว่าของในแคตตาล็อกนั้นเป็นของใคร มีเอี่ยวถึงผู้หลักผู้ใหญ่ในหน่วยงานหรือไม่ คงต้องเรียกรายละเอียดของแคตตาล็อกดังกล่าวนี้มาตรวจสอบ”

นพ.วาโย เปิดเผยต่อไปว่า มีข้าราชการน้ำดีระดับอธิบดีมากระซิบว่าที่เรื่องแปลกประหลาดเช่นนี้เกิดขึ้น อาจไม่แปลกประหลาดนัก หากระดับอธิบดีกรมสนิทสนมกับระดับรองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณและรัฐมนตรีช่วยว่าการ เป็นสามเหลี่ยมแห่งความเป็นไปได้ที่อาจไม่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของประชาชนนัก ทั้งนี้ คงต้องถามไปยังผู้ที่ชี้แจงว่าโครงการดังกล่าวมีประโยชน์จริงหรือ กล้ารับปากหรือไม่ว่า หากโครงการดังกล่าวล้มเหลว ตนจะเป็นผู้รับผิดชอบเงินภาษีของประชาชนทุกบาททุกสตางค์ พล.อ.ประยุทธ์ บอกตลอดว่าตนเองเข้ามาเพื่อปราบโกง แต่จากที่ตนยกตัวอย่างไปก็ค่อนข้างที่จะชัดเจนมากแล้วว่า พล.อ.ประยุทธ์ นั้นปล่อยปละละเลย ไม่ได้เข้ามาเพื่อปราบโกงอย่างที่พูด ที่ตนค้นเจอความแปลกประหลาดและน่าสงสัยยังมีอีกมาก ตนคิดว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจในเดือนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ และ 10 รัฐมนตรีที่จะถูกอภิปรายต้องเจอศึกหนักอย่างแน่นอน และค่อนข้างมั่นใจว่า จะมีรัฐมนตรีอย่างน้อย 1 คน ที่ถูกโหวตคว่ำกลางสภา