เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. ที่ประชุมมูลนิธิ 14 ตุลา อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถนนราชดำเนิน เครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย จัดเสวนา “ถอดรหัสผู้ว่าฯ กทม. สู่การเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ” โดยมีนายประพาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย นายยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. พรรคก้าวไกล นายจตุพร พรหมพันธ์ุ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และนายสันติสุข กาญจนประกร ผู้ก่อตั้ง We’re All Voters ร่วมเสวนา พร้อมแสดงกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ไขกุญแจปลดล็อกท้องถิ่นหยุดรัฐราชการรวมศูนย์

นายยุทธพร กล่าวว่าการเลือกตั้งคือความหวังของประชาชน นี่คือโอกาสที่ประชาชนมีส่วนร่วมตัดสินใจ กำหนดชะตากรรม ตัดสินอนาคตของตัวเอง ที่ผ่านมาการเลือกตั้งถูกทดทอนความสำคัญมาโดยตลอด ที่ผ่านมากระแสการเลือกตั้งท้องถิ่นมีการพูดถึงมาโดยตลอด แต่มีผู้คนขัดขวางไม่เห็นด้วย และถูกกลไกรัฐกดทับ ปัญหาเกิดจากโครงการรัฐรวมศูนย์อำนาจ ทัศนคติต่อการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ขณะที่รัฐธรมนูญ 2560 คือ กับดักกระจายอำนาจ และพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน คือ จุดใหญ่สำคัญที่ไม่สามารถปลดล็อกได้ เพราะได้กำหนดโครงการรัฐแบบรวมศูนย์อำนาจว่าต้องมีส่วนภูมิภาค ท้องถิ่น และผู้ว่าฯ ต้องมาจากสังกัดกระทรวงมหาดไทย นี่เราต้องปลดล็อกก่อนจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ส่วนทัศนคติองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่มีการทุจริตและความรุนแรง สะท้อนว่าเราพยามปิดกั้นด้วยมายาคติว่า กระจายอำนาจไร้ประสิทธิภาพ การกระจายอำนาจไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้และมีปัญหามากขึ้นกว่าเดิม นี่คือสองปัจจัยหลักที่มองภาพกระจายอำนาจในเชิงลบและไม่ออกจากกงขังได้ ปัจจุบันการกระจายอำนาจคือการกระจายหน้าที่ และท้องถิ่นเอง คือ แขนขากระทรวงมหาดไทย มีหน้าที่รับคำสั่งจากส่วนกลางเท่านั้น

ขณะที่นายจตุพร กล่าวว่า เรายังไม่เคยได้ประชาธิปไตยที่แท้จริง เราได้ครึ่งใบบ้าง เศษเสี้ยวบ้าง เมื่อเราส่งอำนาจให้นักการเมือง นักการเมืองก็เข้าสู่กลไกราชการ ซึ่งการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ประเทศนี้แค่ปฏิรูปยังไม่พอ มันคือคำหลอกลวงเอาไว้ต้มคน กล้าที่จะเปลี่ยนการปกครองส่วนภูมิภาคต้องเลิก เหลือเฉพาะส่วนกลางและท้องถิ่น ไม่กล้าให้อำนาจประชาชนอย่างแท้จริง ถ้าเราคิดเปลี่ยนต้องยกเลิกการปกครองส่วนภูมิภาค อย่ากลัวให้อำนาจประชาชน ถ้าเรากล้าประชาชนจะเลือกเอง ถ้ากลัวไม่บริสุทธิ์ยุติธรรมก็ต้องทำให้บริสุทธิ์ยุติธรรม สิ่งสำคัญผู้ว่าฯจากส่วนกลางจะไม่ผูกพันธ์กับประชาชน เพราะเดี๋ยวผู้ว่าฯ คนใหม่ก็จะมา ตนได้ยินมานานแล้วเรื่องเลือกตั้งผู้ว่าฯ เราต้องการเปลี่ยนแปลง กล้าออกแบบ ตนหวังว่าจะเดินไปสู่ความสำเร็จ อย่าดูถูกประชาชนว่าไม่รู้ ถ้าให้ก็อย่าให้เพียงบางจังหวัด แต่ควรเกิดขึ้นทุกจังหวัด

นายจตุพร กล่าวต่อว่า กรณีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ชนะการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. สะท้อนให้เห็นว่าคน กทม.เลือกผู้ว่าฯ ได้เอง ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงจริงอย่างรวดเร็ว ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่าเข้ามาแล้วทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นคนที่ได้รับประโยชน์สูงสุด คือ ประชาชน เพราะผู้ว่าฯ ที่มาจากประชาชนทำงานทุกวัน ไม่มีวันหยุด แตกต่างจากผู้ปกครองที่มาจากกลไกราชการ แม้กระทั่งตัวนายกฯ ก็ยึดถืออำนาจการทำงานแบบราชการ 1 เดือน ทำงาน 15 วัน ขณะที่ปัญหาประชาชนไม่เคยมีวันหยุด ประเทศที่มีผู้นำมีวันหยุดประเทศนั้นจะหาความเจริญได้ยาก เพราะการพัฒนาความเจริญก้าวหน้ามาแซงกันในช่วงวันหยุด ทั้งนี้ เราต้องสังคายนาปฏิรูปหรือปฏิวัติเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทั้งระบบทเพราะรัฐธรรมนูญที่มาจากปลายกระบอกปืนไม่เอื้อต่อการจะเปลี่ยนแปลงนี้ เพราะได้วางกลไกและกับดักต่างๆ มากมาย หากไม่เปลี่ยนแปลงใหญ่การผลักดันให้สามารถเลือกตั้งผู้ว่าฯทั้งประเทศก็ไม่มีวันเกิดขึ้น เมื่อประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริงต้องลุกขึ้นมาต่อสู้

ส่วนนายวิโรจน์ กล่าวว่า การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และการเลือกตั้งผู้ว่าฯ จังหวัดอื่นๆ ควรจะเป็นวาระอย่างไม่เป็นทางการ ไม่จำเป็นต้องมีเอกสารหนาๆ แต่ควรเป็นวาระที่ให้ประชาชน ผู้ที่จะมาเป็นตัวแทนของเมืองนั้นๆ เห็นปัญหา เข้าอกเข้าใจปัญหาภายในพื้นที่ของตัวเอง รวมถึงกำหนดยุทธศาสตร์ร่วมกันโดยไม่ต้องมาร่างเอกสารเป็นทางการ ทั้งนี้ ระบบราชการรวมศูนย์เป็นปัญหาหลัก เพราะส่วนกลางไม่ไว้ใจประชาชน ต่อให้จัดให้มีการเลือกตั้งก็เหมือนการปาหี่ สุดท้ายก็ส่งผู้มีอิทธิพลลงไปควบคุม ซึ่งความแตกต่างของผู้ว่าฯ ที่มาจากการแต่งตั้ง เมื่อเข้าไปแก้ปัญหาให้กับประชาชนมักจะถูกมองว่าเป็นบุญคุณ แต่เมื่อมีผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้งจะถูกมองว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องแก้ปัญหาและทำงานเพื่อประชาชน หากทำไม่ได้ก็ต้องคืนตำแหน่ง อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งเป็นระบอบที่ยุติธรรม เพราะประชาชนเลือกคนแบบไหนก็จะได้การบริหารแบบนั้น และคนที่ไม่ถูกเลือกก็ทำหน้าที่ในการตรวจสอบแทน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงท้ายของกิจกรรมนายพริษฐ์ วัชรสินธุ์ นายประกร อารีกุล ผู้แทนคณะก้าวหน้า กล่าวให้กำลังใจเครือข่าย และรับมอบ 5,000 รายชื่อสนับสนุนเลือกตั้งผู้ว่าฯ “ปลดล็อกท้องถิ่น” จากนายสมโชติ มีชนะ เครือข่ายใต้มูฟออน และนายนันทพงศ์ ปานมาศ เครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย