เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีเปิดคลินิกโรคอุบัติใหม่และโรคทางเดินหายใจเฉียบพลัน (EIDARIC) ของโรงพยาบาลเมดพาร์ค โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 ของไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องทั้งผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิต รัฐบาลจึงมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ มากขึ้น เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติ และเตรียมพร้อมเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขยังให้ความสำคัญในการเฝ้าระวัง และดำเนินมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิ-19 และโรคติดต่ออื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ โรคฝีดาษวานร โดยกรมควบคุมโรคได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข กรณีโรคฝีดาษวานร เพื่อเฝ้าระวังคัดกรองผู้เดินทางจากประเทศที่มีการระบาด ช่วยให้ตรวจวินิจฉัยกลุ่มเสี่ยงได้รวดเร็วขึ้น สามารถป้องกัน ควบคุมการแพร่ระบาดในประเทศได้

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวด้วยว่า คลินิกโรคอุบัติใหม่และโรคทางเดินหายใจเฉียบพลัน (EIDARIC) โรงพยาบาลเมดพาร์ค เป็นคลินิกความดันลบ มีระบบบริหารจัดการแบบ One stop service เพื่อคัดกรองผู้ป่วยที่สงสัยว่าเป็นโรคระบาดให้เข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที มีการจัดพื้นที่ปลอดภัยในโรงพยาบาลเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่บุคคลอื่น ขณะนี้มีผู้เข้ารับบริการเฉลี่ย 35-45 รายต่อวัน ทั้งนี้ถือเป็นความร่วมมืออันดีระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการทำให้ระบบสาธารณสุขของประเทศมีความเข้มแข็งในการเฝ้าระวัง ดูแลรักษาผู้ป่วยจากโรคอุบัติใหม่และโรคทางเดินหายใจเฉียบพลัน โดยรองรับการให้บริการกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เข้ามาจากนโยบายเปิดประเทศ และผู้ที่เดินทางเข้าเมืองเพื่อรับการรักษา (Medical Tourism) จากนโยบายการพัฒนาประเทศให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ซึ่งคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น

ทางด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีมีการเผยแพร่ข้อความทางสื่อโซเชียลว่าเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 มีความรุนแรงกว่าสายพันธุ์เดลตา 5 เท่า และมีอัตราเสียชีวิตสูง ว่าข้อมูลดังกล่าวไม่มีหลักฐานและแหล่งที่มาของข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ขอให้ประชาชนอย่าวิตกกังวลต่อข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้เชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน BA.4 และ BA.5 แม้องค์การอนามัยโลกจะจัดให้เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวลและต้องเฝ้าระวัง (VOC lineages under monitoring :VOC-LUM) เนื่องจากความสามารถในการแพร่เชื้อเพิ่มขึ้น หลบภูมิคุ้มกันได้มากขึ้น แต่ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอว่ามีความรุนแรงมากขึ้น

สำหรับสถานการณ์ของทั้ง 2 สายพันธุ์นี้ องค์การอนามัยโลกให้ความเห็นว่าต้องเฝ้าระวัง BA.5 อย่างใกล้ชิด เนื่องจากแอนติบอดีที่จะทำลายฤทธิ์ของเชื้อใช้ได้น้อย ยารักษาตอบสนองน้อยลง แต่ยังสรุปไม่ได้ว่ามีความรุนแรงเพิ่มขึ้นหรือไม่ ต้องรอข้อมูลเพิ่มเติม ขณะที่ฐานข้อมูลโลก GISAID พบ BA.5 สะสม 31,577 ตัวอย่าง ใน 62 ประเทศ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 16% เป็น 25% ส่วน BA.4 พบสะสม 14,655 ตัวอย่าง แนวโน้มลดลงจาก 16% เหลือ 9%

สำหรับประเทศไทยมีระบบเฝ้าระวังสายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ยังพบ BA.4 และ BA.5 ในกลุ่มผู้เดินทางจากต่างประเทศในสัดส่วนสูงกว่าผู้ติดเชื้อในประเทศ และจะมีการศึกษาในผู้ป่วยอาการหนักว่ามีความสัมพันธ์กับ 2 สายพันธุ์หรือไม่ อย่างไรก็ตามแม้ช่วงนี้จะมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถดำเนินชีวิตได้ใกล้เคียงปกติและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ขอให้ยังคงมาตรการป้องกันตนเองที่เหมาะสม เพื่อช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อทุกสายพันธุ์ นอกจากนี้การที่ประชาชนเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันสูงมากพอยังเป็นเรื่องที่สำคัญและมีความจำเป็น เพราะจะทำให้ช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อและป้องกันอาการรุนแรงได้